เจลประคบร้อน-เย็นจากพอลิเมอร์ชีวภาพ(WCS CARE)

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภัทราวดี เวียงหงษ์, วรรณรดา เส็นเจริญ, ณัฐพัชร์ สกุลผอม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วรรณดี สันโห, พิไลลักษณ์ สว่างแสง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันแผ่นเจลประคบร้อน-เย็นที่วางจำหน่วยในท้องตลาด หรือใช้ในสถานบริการต่างๆ มักผลิตจากเจลพอลิเมอร์เป็นส่วนประกอบหลัก โดยเป็นกลุ่มของไฮโดรเจล แต่เจลพอลิเมอร์ดังกล่าวราคาค่อนข้างแพง และใช้กระบวนการทางปิโตรเคมี ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้แล้วหมดไป นับวันจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และสารบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาของวัสดุพอลิเมอร์ที่ไม่สามารถย่อยสลายและตกค้างอยู่ในธรรมชาติหรือต้องกำจัดด้วยการเผาไหม้ซึ่งจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกและเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์โลกร้อน ล้วนแต่เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่ทุกประเทศให้ความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข ทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขปัญหานี้คือการ ใช้พอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนพอลิเมอร์เดิมที่ไม่สามารถย่อยสลายได้

จากการศึกษาข้อมูลพบว่า พอลิเมอร์จากธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ทำแผ่นเจลประคบร้อน-เย็นได้ เช่น เซลลูโลส โปรตีน ไคโตซาน และแป้ง เป็นต้น โดยเฉพาะแป้งซึ่งสามารถหาได้ง่าย ต้นทุนการผลิตไม่สูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วิธีการทำไม่ยุ่งยากสามารถเตรียมผลิตภัณฑ์ด้วยการนำแป้งมากวนจนหนืด และผสมกับสารเติมแต่งต่างๆ ซึ่งแป้งบางชนิดมีคุณสมบัติในการนำมาผลิตเป็นเจลได้ดี เช่น แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียวดำ และแป้งข้าวเหนียว

ดังนั้น คณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจศึกษาการทำแผ่นเจลประคบร้อน-เย็น โดยการนำวัสดุที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด โดยเฉพาะสารจำพวกแป้ง ด้วยจุดเด่นเนื่องจากเป็นสารธรรมชาติ ไม่เป็นอันตราย มีปริมาณมากและถือเป็นสารหมุนเวียนได้ ราคาไม่แพง รวมทั้งยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มาผลิตเป็นเจลประคบร้อน-เย็น ทดแทนการใช้เจลประคบร้อน-เย็นที่สังเคราะห์ได้จากกระบวนการทางปิโตรเคมี เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน ในการเลือกเจลประคบร้อน-เย็นที่มีต้นทุนต่ำ ราคาไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับแผ่นเจลที่วางจำหน่าย และเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประเทศไทยในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป