การศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสมุนไพรกูบายาตัน ชุมชนบ้านต้นตาล ผ่าน วิธีการโมเลกุลลาร์ดอกกิ้ง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

มูฮำหมัดฮาฟิส อูมา, ฮีลมาน มะกอเซ็ง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วีรยา ตรีวรรณจุฑา, ธัญญรัศม์ อุทัยพันธ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

จากอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทั่วโลกบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่มีอยู่เพื่อจัดการกับวิกฤตนี้ยังคงต้องได้รับการปรับปรุง โดยสาเหตุมักมาจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ รวมถึงการขาดความรู้ในการเลือกรับประทานอาหาร จากการรวบรวมหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นกระบวนการออกซิเดชั่นและการอักเสบเป็นกลไกทำให้กิดความเสียหายของเซลล์และเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นรากฐานของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Seyedsadjadi and Grant., 2020) อีกทั้งการอักเสบยังเป็นสาเหตุของการเกิดพยาธิสภาพของอีกหลายๆภาวะ (Cirino et al., 2022) ซึ่งเกี่ยวข้องได้แทบจะทุกระบบของทุกร่างกายของเรา ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ไซโตไคน์ใช้ในการสื่อสารในระบบภูมิคุ้มกันอย่าง TNF-α (tumor necrosis factor) ที่สามารถชักนำทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน (Peraldi and Spiegelman., 1998) ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเบาหวานได้ โดยแนวทางหนึ่งในการรักษาและป้องกันการเกิดโรคติดต่อเรื้อรังคือการควบคุมพฤติกรรมและอาหารที่รับประทาน ถึงแม้ว่าการรับประทานยาต้านอักเสบ (NSAIDs) จะช่วยลดการอักเสบต่างๆ แต่ก็ยังคงมีผลข้างเคียงไม่ว่าจะเป็น ความดันภายในหลอดเลือดสูง ที่เกิดจากการหดตัวของหลอดเลือด (Vasoconstriction) ที่มากเกินไป ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ (Heart stroke) และแผลภายในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) ที่เกิดจากสัดส่วนของเหลวภายในกระเพาะอาหารที่ไม่สมดุล (Schmidt et al., 2016) กระแสของการหันมาทานผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจึงมากขึ้นและเป็นที่นิยมทั้งในหมู่ผู้สูงอายุ ไปจนถึงวัยทำงาน

สมุนไพรกูบายาตัน เป็นสมุนไพรพื้นบ้านของหมู่บ้านต้นตาล อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งตัวของสมุนไพรได้ผ่านการแปรรูปจากใบพืชในท้องถิ่นชุมชนบ้านต้นตาล ซึ่งยังไม่ทราบชนิดแต่เป็นพืชที่ขึ้นได้ตามป่าดิบชื้นเขตร้อน จากการเยี่ยมชมและได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ พบว่ามีการนำสมุนไพรมาต้มดื่มแบบชา ซึ่งมีชื่อที่เรียกกันภายในหมู่ชนว่า “ ชาอาโด้ ” ซึ่งชาวบ้านได้บอกกล่าวว่า ชาดังกล่าวสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของเหล่าหนุ่มชายได้ แสดงให้เห็นว่ายังมีฤทธิ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มเอนไซม์ NOS อีกด้วย (Förstermann and Sessa., 2012) และยังมีสรรพคุณอื่นๆ อาทิเช่น ลดไข้ ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และบำรุงโลหิต เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าจริงหรือไม่ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์ชีวภาพภายในชาอาโด้ จากสมุนไพรกูบายาตัน ซึ่งต้านการอักเสบที่จะนำมาสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

การจำลองการจับกัน (Molecular docking) เป็นเทคนิคที่อาศัยให้คอมพิวเตอร์จำลองการจับกันระหว่างตัวรับ (Receptor) กับลิแกนด์ (Ligand) หรือสารตั้งต้น (Substrate) ที่สนใจ (สถาปัตย์ และคณะ., 2563) แล้วรายงานผลออกมาเป็นค่าพลังงานการเข้าจับ (Binding affinnity) ค่าพลังงานดังกล่าวสามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้ (อัญทิวา., 2560) อีกทั้งยังมีข้อดีคือใช้ต้นทุนในการทดลองต่ำเนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลองการทดลองและแสดงผลที่ได้ออกมาเป็นตัวเลข ตัวอย่างสำคัญที่นำเทคนิคดังกล่าวมาใช้ คือการนำองค์ประกอบภายในฟ้าทะลายโจรมาจำลองการจับกันกับโปรตีนของไวรัสโควิด 19 มาคำนวณหาค่าพลังงานเข้าจับ จนผลปรากฏว่าสามารถเข้าจับได้ ซึ่งถูกใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในการนำไปทำเป็นยารักษาบรรเทาอาการของผู้ป่วยโควิด 19 ทำให้มีการนำฟ้าทะลายโจร มาทำเป็นยาแล้วถูกใช้กันอย่างทั่วไปในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 จึงเป็นเทคนิคสำคัญในทางคลินิกในการทำนายอัตราการเกิดอันตรกิริยา ระหว่างยาหรือสารที่เราสนใจกับสารอื่นๆได้ (สถาปัตย์ และคณะ., 2563)

งานวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรกูบายาตัน ของชาอาโด้ที่สามารถต้านการอักเสบ ที่นำมาสู่การลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) โดยการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพในหลอดทดลองและผ่านการใช้เทคนิคในคอมพิวเตอร์ที่จำลองการเข้าจับของโมเลกุล หรือ โมเลกุลาร์ดอกกิ้ง ซึ่งผลจากการศึกษาสามารถนำไปต่อยอดทั้งด้านการแพทย์และการส่งเสริมทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่าง ชาอาโด้ ได้ต่อไป