กำจัดโปรตีนก่อการแพ้ในน้ำยางพาราด้วยเอนไซม์โบรมิเลน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

จันทกานติ์ ยอดทอง, พุทธธิดา สุภาสน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ณชมน รุ่งใสวัฒนา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

เนื่องจากน้ำยางพาราเป็นวัตถุดิบหนึ่งที่นิยมนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ในทางการแพทย์ เช่น ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย อุปกรณ์หรือสื่อการสอนทางการแพทย์ เช่น หุ่นคน อวัยวะเทียมต่างๆ จากการศึกษาพบว่า โปรตีนหลายชนิดในน้ำยางพาราสามารถก่อให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรงได้ ดังนั้น การนำน้ำยางพารามาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายคนอาจต้องคำนึงถึงปริมาณโปรตีนก่อการแพ้ที่อยู่ในน้ำยางพาราด้วย จากข้อจำกัดดังกล่าวจึงจำเป็นต้องกำจัดโปรตีนออกจากน้ำยางพารา ซึ่งวิธีการที่จะกำจัดโปรตีนมีหลายวิธีมาก ทางกลุ่มของข้าพเจ้าเลือกศึกษาวิธีการการนำเอนไซม์มาย่อยโปรตีนร่วมด้วยการปั่นเหวี่ยง

โดยเอนไซม์ที่เลือกใช้คือเอนไซม์โบรมิเลนบริสุทธิ์ทางการค้ามาใช้ในการกำจัดโปรตีนก่อการแพ้ในน้ำยางพารา เนื่องจากเอนไซม์โบรมิเลนมีคุณสมบัติเป็นโปรติเอสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการเร่งปฏิกิริยาการย่อยโปรตีนให้เป็นเปปไทด์สั้นๆหรือกรดอะมิโน และยังเป็นเอนไซม์ตามธรรมชาติที่สามารถพบได้ทุกส่วนของสับปะรด โดยใช้เอนไซม์โบรมิเลนที่ความเข้มข้น 0.02 M , 0.04 M และ 0.06 M สัดส่วนเอนไซม์โบรมิเลนต่อน้ำยางพารา 0.5 : 100, 1.2 : 100 และ 2 : 100 w/w และเลือกใช้โซเดียมโดเดซิลซัลเฟตเป็นสารเพิ่มความคงสภาพของน้ำยางพาราและสารกันเสีย Uniphen P-23 ที่มีความปลอดภัยในการใช้ต่อผิวหนัง ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้ในทางเภสัชกรรมและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งโอกาสที่ก่อให้เกิดการแพ้ในสารเหล่านี้ต่ำกว่าสารอื่นๆ เพื่อให้ได้น้ำยางพาราโปรตีนต่ำสำหรับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายคนได้ ซึ่งปริมาณไนโตรเจนหลังจากกระบวนการกำจัดโปรตีนต้องไม่เกินเกณฑ์กำหนดที่จะทำให้ผู้ป่วยที่มีความไวต่อยางพารามีอาการแพ้ ซึ่งก็คือไม่เกิน 0.1%