การเพิ่มคุณภาพผักโขมไมโครกรีนภายใต้ระบบควบคุมแสงเทียม LED
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
วารดาห์ ยูโซะ, วาชิญา มะและ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
เอกนรินทร์ เรืองรักษ์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
บทนำ : ไมโครกรีน (microgreens) เป็นต้นกล้าที่ปลูกจากผัก สมุนไพร หรือเมล็ดธัญพืช ไมโครกรีนค่อนข้างเจริญเติบโตได้ง่าย สามารถปลูกในที่ร่มได้ด้วยทรัพยากรที่จำกัด และมีวงจรการเติบโตที่สั้นสามารถเก็บเกี่ยวหลังงอก 7-14 วันหลังเพาะปลูก งานวิจัยพบว่าโดยส่วนใหญ่พืชที่โตอยู่ในช่วงระยะเวลาไมโครกรีนจะมีคุณค่าทางอาหารสูงที่สุดเมื่อเทียบกับระยะเริ่มงอก ต้นเล็ก และช่วงโตเต็มวัย ในบางชนิดนั้นไมโครกรีนมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าผักที่โตเต็มวัยถึง 40 เท่า จึงได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและผู้ผลิตที่อาศัยในเมือง ในขณะที่ไมโครกรีนมีปริมาณไนเตรท (NO3-) ต่ำกว่าผักที่โตเต็มวัย ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าการรับประทานไมโครกรีนนั้นมีความปลอดภัย จากความสำคัญข้างต้นมีผักและพืชหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตไมโครกรีน โดยผักโขมเป็นผักที่นิยมใช้กันมากที่สุดชนิดหนึ่งในแง่ของเนื้อสัมผัส รสชาติ คุณภาพการรับประทานโดยรวม อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการปลูกผักไมโครกรีนภายใต้แสงเทียม LED ส่งผลให้ผักไมโครกรีนมีคุณภาพสูงกว่าการผลิตผักไมโครกรีนทั่วไป
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของผักโขมไมโครกรีนภายใต้ระบบแสงเทียม LED โดยศึกษาเกี่ยวกับสเปกตรัมของแสง ความเข้มแสง และระยะเวลาในการให้แสงมีผลต่อผักโขมไมโครกรีน เพื่อเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและคุณค่าทางโภชนาการของผักโขมไมโครกรีน
กระบวนการทดลอง : นำขุยมะพร้าวใส่ภาชนะปลูก รดน้ำให้ขุยมะพร้าวปลูกมีความชื้น โรยเมล็ดผักโขมแดง และผักโขมไทย ลงในภาชนะปลูกปลูกจนทั่วทั้ง 4 ถาด สายพันธุ์ละ 5 กรัม โดยแบ่งเป็นถาดละ 2 สายพันธุ์ ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในห้องสำหรับการเจริญเติบโตอัตโนมัติที่ 25 ± 2 °C , ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 80–85% ติดตามผล 2-3 วัน ใช้การจำลองสามครั้งในแต่ละหน่วยการทดลอง เพื่อประเมินผลกระทบของสเปกตรัมแสงความเข้มแสง และระยะเวลาต่อการเจริญเติบโตของผักโขมไมโครกรีน
เป็นการศึกษาการเจริญเติบโตของผักโขมแดงไมโครกรีนและผักโขมไทยภายใต้ระบบแสงเทียม LED ศึกษาสเปกตรัมของแสง ความเข้มแสง และช่วงแสง ที่มีผลต่อสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ แคโรทีนอยด์ สารแอนโทไซยานิน ปริมาณวิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ และโปรตีน ภายใต้ระบบแสงเทียม LED
ปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำโครงงาน : เนื่องจากเป็นความรู้เรื่องใหม่ซึ่งจะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิธีการศึกษาที่จะเกิดขึ้น และการปฏิบัติงานยังใหม่ทำให้มีความรู้ยังไม่มากจึงต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจพอสมควรจึงจะเข้าใจกระบวนการทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเริ่มปฏิบัติการทดลอง เพราะสถานที่ทำการทดลอง ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ต้องได้รับการอนุญาตจากทางโรงเรียน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์