การศึกษาฤทธิ์ของยูกลีนอลในกานพลูในการเป็นยาสลบในปลานิล

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภูสิต สายจันทร์, ณัฐธยาน์ ศรีสวัสดิ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วัชราภรณ์ แสนนา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสตึก ซึ่งมีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านคือแม่น้ำมูล ชาวบ้านในชุมชนที่อาศัยบริเวณใกล้แม่น้ำจึงมีการประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก โดยชาวประมงในชุมชนมีการหาปลาตามธรรมชาติ และเพาะเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จากการลงพื้นที่สอบถามชาวประมงพบว่าในกระบวนการเลี้ยงปลาจะมีขั้นตอนในการเร่งให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้น โดยการนำปลาที่เพาะเลี้ยงมาทำหมันปลาซึ่งจากการทำหมันปลาจะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็วขึ้น 20-30 % ในการทำหมันปลาชาวประมงจำเป็นต้องใช้ยาสลบเพื่อลดอาการเจ็บปวดในปลา ปัจจุบันสารที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสลบในปลาคือสารเคมีในกลุ่มไตรเคนมีเทนซัลโฟเนตซึ่งภายหลังการใช้สารเคมีนี้อาจเกิดการตกค้างในปลา จากการศึกษาคุณสมบัติของสารนี้พบว่าหากได้รับเข้าสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดสารก่อมะเร็ง ( Wikipedia, the free encyclopedia , 2566 ) ผู้พัฒนาผลงานจึงมีแนวคิดในการหาสารที่มีฤทธิ์ทำให้ปลาสลบ มาใช้ทดแทนสารกลุ่มไตรเคนมีเทนซับโฟเนต โดยสนใจพัฒนาสารที่มีในกลุ่มสมุนไพรไทย จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู ที่มีองค์ประกอบของยูกลีนอลอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากมีข้อมูลว่ายูกลีนอลสามารถส่งผลทำให้ปลาสลบได้เช่นกัน กานพลูจึงเป็นพืชทางเลือกในการนำมาทำยาสลบปลาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยในการศึกษาครั้งนี้จะทำการศึกษาความเข้มข้นที่เหมาะสมของน้ำมันจากกานพลู ที่มีประสิทธิภาพในการวางยาสลบปลานิล โดยจะประเมินจากระยะเวลาที่เหมาะสมของปลาในการทำหมัน

หากโครงงานนี้ถูกพัฒนาจนสำเร็จสามารถนำไปใช้งานได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อ ชาวประมงและเป็นการนำสมุนไพรไทยในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มมูลค่า กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนา สู่ความยั่งยืน เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนตามแนวการพัฒนาแบบยั่งยืน ( SDGs )