ความหลากหลายของชนิดกิ้งกือในสวนยางพาราและประสิทธิภาพการย่อยสลายใบยางพาราของกิ้งกือแต่ละชนิด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อรุณรัตน์ ยางงาม, กฤษณา สมนึกตน, อนันตญา สีเทา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธิติ เพียรโคตร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

เนื่องด้วยบริเวณรอบโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในพื้นที่มีการทำสวนยางพาราเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกสวนยางพาราไม่ต่ำกว่า 235,000 ไร่ โดยจากการสำรวจพบว่าในสวนยางพาราจะมีการทับถมของใบยางพาราเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฤดูแล้งของแต่ละปี และจากการสำรวจในช่วงฤดูฝน พบว่าในสวนยางพารา บริเวณใต้ใบไม้ที่มีการทับถมกันของใบไม้เป็นจำนวนมาก จะมีพวกแมลงและกิ้งกือจำนวนมากอาศัยอยู่

ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงสงสัยว่ากิ้งกือนั้นมีบทบาทที่สามารถช่วยในการย่อยสลายใบยางพาราได้หรือไม่ โดยจากข้อมูลพบว่า กิ้งกือจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Phylum Arthropoda) ชั้นดิพโพลโปดา (Class Diplopoda) กิ้งกือทุกชนิดมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศสำหรับต้นไม้ในป่าเขตร้อน ทำหน้าที่ในการย่อยสลายเศษซากพืช ใบไม้ ลูกไม้ให้กลายเป็นแร่ธาตุอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีจุลินทรีย์คอยช่วยเหลือ ซากพืชที่กิ้งกือกินเข้าไปจะถูกถ่ายออกมาเป็นมูลก้อนเล็ก ๆ ที่มีทั้งจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน เช่นเดียวกับมูลของไส้เดือนและหอยทาก พวกเราจึงสนใจที่จะสำรวจว่าบริเวณสวนยางพาราในเขตอำเภอสตึก จะสามารถพบกิ้งกือชนิดใดได้บ้าง และกิ้งกือแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายใบยางพาราแตกต่างกันหรือไม่ รวมทั้งจะสามารถนำมูลของกิ้งกือมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการทำการเกษตรได้หรือไม่