สเปรย์ระงับกลิ่นกายโดยใช้สารสกัดจากขมิ้นชันและพืชธรรมชาติชนิดอื่น ๆ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

กัญญาณัฐ ชัยแก้ว, พิชญ์สินี ชูดำ, พฤฒิพงศ์ นุ่นเกิด

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อุไร หนูแก้ว

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเหมาะสำหรับการปลูกขมิ้นชันในทุกพื้นที่อย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปปลูกเพื่อแซมสวนยางหรือปลูกผสมผสานไปกับพืชชนิดอื่น ในปัจจุบันขมิ้นชันได้รับการสนใจมากขึ้น เนื่องจากสามารถนำไปประกอบอาหาร ขัดผิว เป็นส่วนประกอบในการทำเครื่องสำอางบำรุงผิว และช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช เป็นต้น จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงประโยชน์ และทำการปลูกลักษณะเชิงเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้แถบพื้นที่ทางภาคใต้นิยมปลูกขมิ้นชันตามบ้านเรือน เพราะในภาคใต้นิยมนำมาทำเครื่องแกง นอกจากนี้ขมิ้นชันยังมีสรรพคุณทางยาที่รักษาอาการและโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย รักษาโรคความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ในการต่อต้านและฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง และต่อต้านยีสต์ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ

กลิ่นตัวเกิดจากสารที่สร้างมาจากต่อมกลิ่น (apocrine gland) ซึ่งพบมากที่บริเวณรักแร้และหัวหน่าว ต่อมกลิ่นพบได้ตั้งแต่เกิดแต่จะเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่น มีหน้าที่ในมนุษย์คือการสร้างกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะทางเพศแบบหนึ่ง สารที่หลั่งจากต่อมกลิ่นประกอบด้วย กรดไขมันหลายชนิด (fatty acid, sulfanyl alkanols และ steroid ) มีลักษณะเหลวข้นไม่มีกลิ่น เมื่อหลั่งออกมาด้านนอกของผิวหนังสารดังกล่าวจะถูกเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacterium spp.) เปลี่ยนให้เป็นสารที่มีกลิ่นซึ่งคือแอมโมเนียและกรดไขมันสายสั้น (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560)

ผู้จัดทำโครงงานจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาขมิ้นชันให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของขมิ้นชัน ให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีและต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นขมิ้นชัน และพืชธรรมชาติชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยการทดลองสารเคอร์คูมิน (Curcumin) กับแบคทีเรีย Corynebacterium spp. เพื่อนำไปพัฒนาเป็นสเปรย์ดับกลิ่นกายต่อไปในอนาคต