การพัฒนาสารเคลือบหลุมร่องฟันที่มีองค์ประกอบของฟิลเลอร์ที่ปลดปล่อยไอออนและสารพอลิไลซีนเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการซ่อมแซมเนื้อฟันและลดโอกาสการผุซ้ำ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พัชร์พิชา เลิศวิสิฐพล, ยศวีร์ วรภาสไพบูลย์, นิชาภา จัมปากะนันท์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุภานันท์ สุจริต, ปิยะพงษ์ พรรณพิสุทธิ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

สารเคลือบหลุมร่องฟันเป็นการจัดการที่นิยมในการป้องกันการเกิดและลุกลามของฟันผุ แต่สารเคลือบหลุมร่องฟันเหล่านี้ยังคงมีข้อจำกัด คือ อายุการใช้งานที่ต่ำและไม่สามารถลดโอกาสการเกิดฟันผุซ้ำได้ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาสารเคลือบหลุมร่องฟันที่มีความสามารถในการปลดปล่อยไอออนเพื่อซ่อมแซมฟันและลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคฟันผุเพื่อลดความล้มเหลวของการรักษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นที่สำคัญในห้องปฏิบัติการของสารเคลือบหลุมร่องฟันชนิดเรซินที่เตรียมใหม่ โดยเพิ่มสารที่ช่วยปลดปล่อยไอออนเพื่อคืนกลับแร่ธาตุในฟันผุ ได้แก่ แก้วชีวภาพชนิดสตรอนเทียม/ฟลูออไรด์ (Sr/F-BGNPs) และแคลเซียมฟอสเฟตมอนอไฮเดรต (MCPM) รวมถึงสารพอลิไลซีน (PLS) และทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติกับสารเคลือบหลุมร่องฟันในท้องตลาดชนิดที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน วิธีการศึกษา ทำการผสมวัฏภาคมอนอเมอร์และฟิลเลอร์ของสารเคลือบหลุมร่องฟันชนิดเรซิน ทำการผสมเป็น 5 สูตรที่มีความเข้มข้นของ Sr/F-BGNPs + MCPM และ PLS ที่แตกต่างกัน จากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติด้านการแข็งตัวหรืออัตราการเกิดพอลิเมอร์ไรเซชัน ความแข็งแรงดัดแบบสองแกน ความแข็งผิว นอกจากนี้จะทำการทดสอบด้านการปลดปล่อยไอออนที่สำคัญต่อการคืนกลับแร่ธาตุ เช่น ฟลูออไรด์ รวมถึงทดสอบการยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ (Streptococcus mutans) โดยเปรียบเทียบผลด้วยการวิเคราะห์สถิติแบบ One-way ANOVA ที่ค่า p=0.05 โดยสูตรของสารเคลือบหลุมร่องฟันที่คาดว่าจะได้คือมีคุณสมบัติเชิงกลและกายภาพที่เหมาะสม มีคุณสมบัติในการคืนกลับแร่ธาตุ และยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของแบคทีเรียก่อโรคฟันผุและเหมาะสมสำหรับการทดสอบกับฟันมนุษย์หรือทำการศึกษาในระดับคลินิกต่อไป