การสกัดเจลโลสจากเมล็ดมะขาม เพื่อใช้เป็นสารยับยั้งเชื้อราในผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

กิรณา นิรมิตรมหาปัญญา, ณชนก สุรวัตร, ชวัลรัตน์ คงปรีดี

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วรรณนภา ธุววิทย์, พรพิมล ทดทะศรี

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานเรื่องการสกัดเจลโลสจากเมล็ดมะขาม เพื่อใช้เป็นสารยับยั้งเชื้อราในผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน จัดทำขึ้น เพื่อศึกษาผลของอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการสกัดเจลโลสจากเนื้อเมล็ดมะขามเปรี้ยวและเมล็ดมะขามหวาน เพื่อศึกษาผลของระยะเวลาในการเกิดเชื้อราของเส้นใยผักตบชวาที่เคลือบด้วยสารเคลือบผิวทางการค้าวานิช และเจลโลสจากเนื้อเมล็ดมะขาม และเพื่อศึกษาฤทธิ์การยับยั้งเชื้อราของเจลโลส โดยเริ่มจากนำเมล็ดมะขามไปล้างน้ำทำความสะอาดและนำไปอบทำให้แห้งพบว่าเมล็ดมะขามเปรี้ยวมีน้ำหนักเฉลี่ย34.78±0.02 กรัม น้ำหนักที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.66 และเมล็ดมะขามหวานมีน้ำหนักเฉลี่ย 34.80±0.02 กรัม น้ำหนักที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.57 จากนั้นนำเมล็ดมะขามที่อบแล้วมากำจัดเปลือกออกแล้วนำไปบดให้ละเอียด ร่อนด้วยตะแกรงกรอง พบว่าผงแป้งเมล็ดมะขามเปรี้ยวมีน้ำหนักเฉลี่ย 30.54±0.02 กรัม และผงแป้งเมล็ดมะขามหวานมีน้ำหนักเฉลี่ย 32.15±0.01 กรัม โดยได้ผงแป้งที่มีลักษณะเป็นสีขาวครีม ต่อมานำผงแป้งเมล็ดมะขามมาทำการสกัดเจลโลสพบว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการสกัดเจลโลส คือ 80 องศาเซลเซียส แล้วนำเจลโลสจากเมล็ดมะขามเปรี้ยวและเจลโลสจากเมล็ดมะขามหวานมาเคลือบผักตบชวาเปรียบเทียบผลกับสารเคลือบทางการค้าวานิชพบว่าสารเคลือบเจลโลสจากเมล็ดมะขามเปรี้ยวและเจลโลสจากเมล็ดมะขามหวานมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อราได้ใกล้เคียงกับสารเคลือบทางการค้าวานิช และจากการทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเชื้อราด้วยเจลโลส พบว่ามีการปรากฏ Zone of inhibitionโดยสารสกัดเจลโลสจากเมล็ดมะขามเปรี้ยวมีค่า Zone of inhibition เฉลี่ย 10.33±0.58 มิลลิเมตร และสารสกัดเจลโลสจากเมล็ดมะขามหวาน มีค่า Zone of.inhibition.เฉลี่ย 9.67±0.58 มิลลิเมตร ดังนั้นสารสกัดเจลโลสจากเมล็ดมะขามจึงมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราในผักตบชวาได้จริง