การผลิตพลาสติกชีวภาพด้วยสารสกัดเพคตินจากกระเจี๊ยบเขียวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาความสดของผลไม้

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุวภัทร เชยจันทร์, มนปิญา อริยะวงศ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุดคนึง คุ้มเกตุ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานการผลิตพลาสติกชีวภาพด้วยสารสกัดเพคตินจากกระเจี๊ยบเขียวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ความสดของผลไม้ มีจุดประสงค์เพื่อลดขยะพลาสติกที่มีมากขึ้นในปัจุจบัน แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ศึกษาปริมาณเพคตินจากกระเจี๊ยบเขียวที่ดีที่สุดในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผสมเพคตินจาก กระเจี๊ยบเขียวปริมาณ 0.2 กรัม, 0.6 กรัม และ 1 กรัมลงในพลาสติกชีวภาพ โดยเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ความต้านทานแรงดึงกับพลาสติกชีวภาพที่ไม่ใส่เพคตินจากกระเจี๊ยบเขียว พบว่า พลาสติกชีวภาพที่ใส่เพคติน 1 กรัม มีค่าความต้านทานแรงดึงมากที่สุดอยู่ที่ 5.842±1.456 Mpa ดังนั้นเพคตินมีส่วนช่วยเพิ่มค่าความต้านทานแรงดึงของพลาสติกชีวภาพ ตอนที่ 2 ศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการละลายของพลาสติกชีวภาพ โดยทดสอบประสิทธิภาพในการละลายในน้ำปริมาตร 100 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซสเซียส, อุณหภูมิ 50 องศาเซสเซียส, อุณหภูมิ 75 องศาเซสเซียส เเละอุณหภูมิ 100 องศาเซสเซียส เปรียบเทียบกันจากการวัดค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการละลาย พบว่าน้ำอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส มีค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการละลายน้อยที่สุด คือ 4 ชั่วโมง 37 นาที 49 วินาที ตอนที่ 3 ศึกษาผลของพลาสติกชีวภาพในการยืดอายุการเก็บรักษาความสดของผลไม้ ผสมผงถ่านกัมมันต์ลงในพลาสติกชีวภาพที่ดีที่สุดจากตอนที่ 1 ในปริมาณ 5% โดยน้ำหนัก โดยเปรียบเทียบจากการวัดค่าน้ำหนักและสีที่เปลี่ยนแปลงไปของกล้วยกับพลาสติกชีวภาพจากกระเจี๊ยบเขียวที่ไม่ใส่ผงถ่านกัมมันต์ พลาสติกในท้องตลาด และผลไม้ที่วางทิ้งไว้ ณ อุณหภูมิห้อง พบว่า พลาสติกชีวภาพที่ใส่ผงถ่านกัมมันต์ 5% โดยน้ำหนัก สามารถยืดอายุการเก็บรักษาความสดของผลไม้ได้ดีที่สุด เพราะผงถ่านกัมมันต์มีคุณสมบัติในการดูดซับเอทิลีน และที่ปริมาณ 5% โดยน้ำหนักสามารถกระจายตัวได้ดีในพลาสติกชีวภาพ จึงสรุปได้ว่าพลาสติกชีวภาพด้วยสารสกัดเพคตินจากกระเจี๊ยบเขียวที่มีปริมาณเพคติน 1 กรัมและผงถ่านกัมมันต์ 5% โดยน้ำหนัก สามารถยืดอายุการเก็บรักษาความสดของผลไม้ได้ดีที่สุด และละลายได้ดีในน้ำที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส