การสังเคราะห์อนุภาคนาโนคาร์บอนจากข้าวเหลือทิ้ง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธนิสร อุ่นปิติพงษา, ณัฐเศรษฐ ธัชศฤงคารสกุล, กฤติน ทะสุนทร

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อดิศวร์ เกตุอุบล

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ข้าวเป็นอาหารที่มีการบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ข้าวถูกจัดให้ติดอันดับต้น ๆ ของอาหารที่เหลือทิ้งมากที่สุด ดังนั้นโครงงานนี้จึงได้นำข้าวเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่านวิธีการที่ไม่ยาก ประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ข้าวเป็นแหล่งของคาร์บอนในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนคาร์บอน (Carbon Nanoparticles) ซึ่งมีคุณสมบัติเปล่งแสงภายใต้รังสีอัลตร้าไวโอเลต (Photoluminescence)

โครงงานนี้นำข้าวที่ละเอียดผสมกับกรดและน้ำ และต้มที่อุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อให้แป้งในข้าวแตกตัวเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว หลังจากนั้นจึงผ่านกระบวนการทำให้เกิดคาร์บอนไนเซชัน (Carbonization) อาจผ่านไมโครเวฟ หรือเครื่อง Autoclave จนได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม เป็นอนุภาคนาโนคาร์บอน โดยสามารถตรวจสอบการเกิดอนุภาคนาโนคาร์บอนได้ด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต หลังจากนั้นจึงจะนำอนุภาคนาโนคาร์บอนที่ได้ไปตรวจสอบคุณลักษณะและคุณสมบัติเชิงลึก ซึ่งอนุภาคนาโนคาร์บอนที่ได้นั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายทาง เช่น การทำเซลล์ไฟฟ้าเคมี (Electrochemistry), ภาพชีวภาพ (Bio-imaging) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology), เซนเซอร์เคมี (Chemical sensor), การบำบัดน้ำเสีย (Water Treatment), รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เกี่ยวกับแสง เช่น LED เป็นต้น และสุดท้ายนี้โครงงานนี้อาจจะมีการนำอนุภาคนาโนคาร์บอนที่ได้ไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์เพื่อประโยชน์ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่อไป