การศึกษาประสิทธิภาพของโฟมโปรตีนดับเพลิงจากกระถินป่นแห้งเปรียบเทียบกับถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งและน้ำประปา

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปรีชญาน์ ต๊ะถิ่น, สุชัญญา วังคะออม, จินห์จุฑา ถิ่นถา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พรณิชา พรหมเสนา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกของบริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นโรงงานที่เก็บสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกจำนวนมาก สารเคมีเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การควบคุมเพลิงไหม้ในครั้งนี้เป็นไปได้ยาก โฟมโปรตีนดับเพลิงจึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้ควบคุมเพลิงไหม้ แต่เนื่องจากโฟมโปรตีนสังเคราะห์ มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะผลิตโฟมโปรตีนในการดับเพลิงโดยการสกัดจากกระถินป่นแห้ง ซึ่งกระถินเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 23.34 และสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยนำสารละลายโปรตีนไฮโดรไลเสตที่สกัดได้จากกระถินป่นแห้งมาผลิตโฟมโปรตีน โดยมีอัตราส่วนสารละลายโปรตีนไฮโดรไลเสต : โซเดียมไบคาร์บอเนต (สารเร่งปฏิกิริยาประเภทด่าง) : น้ำ : ซิงค์ออกไซด์ ดังนี้ 70 : 15 : 10 : 5 (สูตรที่ 1), 70 : 5 : 10 : 15 (สูตรที่ 2), 70 : 10 : 10 : 10 (สูตรที่ 3), 80 : 0 : 20 : 0 (สูตรควบคุม) จากนั้นนำทั้ง 4 สูตร มาตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของโฟม (ค่าคงตัวของโปรตีน ความหนาแน่นของโฟม ค่าโอเวอร์รัน) เลือกสูตรที่มีลักษณะทางกายภาพที่ดีที่สุด มาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการดับเพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงของแข็ง (เพลิงไหม้ประเภท A) เพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงของเหลวติดไฟ (เพลิงไหม้ประเภท B) เพลิงไหม้จากเชื้อเพลิงของเหลวที่ใช้ในการประกอบอาหาร (เพลิงไหม้ประเภท K) กับถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งและน้ำประปา โดยวัดจากระยะเวลาที่ใช้ในการดับเพลิง อุณหภูมิที่ลดลงหลังจากการดับเพลิงและลักษณะเชื้อเพลิงหลังจากดับเพลิงแล้ว (สีของเชื้อเพลิงและขนาดของเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไป) เพื่อให้ได้โฟมโปรตีนดับเพลิงจากกระถินป่นแห้งที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่ากระถินให้เป็นพืชเศรษฐกิจอีกด้วย