การสกัดเซลลูโลสจากผักตบชวาเพื่อสังเคราะห์เป็นพลาสติกชีวภาพ มาพัฒนาเป็นต้นแบบแผ่นแปะรักษาสิวที่มีฤทธิ์การยับยั้งเชื้อ Propionibacterium acnes จากสารประกอบฟีนอลิกในผักตบชวา

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อัสนา สามะ, ณัจวา ยาหะแม, นูรดีนา อาบูบาซา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

มูฮัมหมัดริฎวาน สมานุรัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนพัฒนาวิทยา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ผักตบชวา เป็นวัชพืชต่างถิ่นสายพันธุ์รุกรานก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ มีปริมาณที่เกิดขึ้นหลายล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผลวิจัยที่ค้นพบว่าสามารถนำเอาผักตบชวามาเตรียมเซลลูโลสคุณภาพสูงได้เพราะในผักตบชวามีปริมาณ α-Cellulose สูงประมาณร้อยละ 24 (กฤษณเวช และวิทวัส, 2554) - 44 (รานีและสุธาทิพย์, 2554) ซึ่งเป็นเซลลูโลสที่เหมาะแก่การนำมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของ Carboxymethyl cellulose (CMC) ที่เป็นสารประเภทไฮโดรคอลลอยด์ ช่วยกักเก็บความชื้นของแผล ส่งผลให้ไม่เกิดสะเก็ดแผลที่อาจนำไปสู่การเกิดแผลเป็น ดังนั้นในการศึกษานี้คณะผู้จัดทำมีความสนใจที่จะนำประสิทธิภาพของ Carboxymethyl cellulose (CMC) มาสังเคราะห์เป็นพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นต้นแบบแผ่นแปะรักษาสิว โดยเสริมฤทธิ์ด้วยสารประกอบฟีนอลิกจากผักตบชวา ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Propionibacterium acnes และความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระ ซึ่งถือเป็นการยับยั้งกระบวนการเกิดความชราของเซลล์ (พรกรัณย์ สมขาวและคณะ, 2565)