นวัตกรรมอาหารปลาจากหนอนแมลงวันลายที่ห่อหุ้มด้วยเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชันสำหรับผู้เลี้ยงปลาเศรษฐกิจ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปิยภรณ์ สุภาใจ, แพรวานิตย์ เนตรสุวรรณ, นฤภร แขมหอม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

บุณณดา ยอดแก้ว, วนิดา มังคลาด

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การจัดการเศษอาหาร (food waste) จากการรับประทานเป็นปัญหาที่ไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งในโรงเรียนและชุมชน จึงทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่า และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งหนอนแมลงวันลาย เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค กินขยะอินทรีย์เป็นอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการโปรตีนสูง จึงเป็นโปรตีนทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับการนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ และช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี จากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทีมผู้พัฒนาจึงได้พัฒนาอาหารปลาจากหนอนแมลงวันลายเพื่อกำจัดเศษอาหาร และนำมาพัฒนาเป็นอาหารปลา โดยนำเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชันมาใช้เพื่อพัฒนาเป็นอาหารเลี้ยงปลาที่ไม่ละลายน้ำ โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบสภาวะต่างๆ คือ ชนิดของอาหารที่เหมาะสมในการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย สภาวะที่เหมาะสมในการแปรรูปหนอนแมลงวันลาย ศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการต้มหนอนและการนำหนอนมาอบและนำไปวิเคราะห์โปรตีนด้วยวิธีสเปกโตรโฟโตเมทรี (Spectrophotometry) จากนั้นนำโปรตีนจากหนอนแมลงวันลายมาทำเป็นอาหารปลาด้วยเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชันโดยศึกษาอัตราส่วนของโซเดียมอัลจิเนตและแคลเซียมแลคเตท ที่เหมาะสมในการขึ้นรูปเม็ดอาหาร และศึกษาคุณภาพอาหารจากโปรตีนหนอนแมลงวันลายที่พัฒนาขึ้น กับอาหารปลาในท้องตลาด เพื่อเสนอแนวทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ที่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของหนอนแมลงวันลายและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย