การศึกษาอัตราส่วนของทะลายปาล์มน้ำมันในปุ๋ยหมักต่อการเจริญเติบโตของต้นดาวเรือง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พิชญา ผลินสุคนธ์, นันทิชา ชายสุทธิ์, วงศกร ด้วงเกลี้ยง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

กมลวรรณ ยังแก้ว, นิกษ์นิภา อ่อนแก้ว

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก อุตสาหกรรมการเกษตรจึงถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เเละสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศจึงประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้นยังคงพบปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีในผลผลิตทางการเกษตรที่มากจนเกินไป ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากแทนธาตุอาหารที่เป็นอินทรียวัตถุ และการใช้สารเคมีฆ่าแมลงแทนสมุนไพรเพื่อกำจัดศัตรูพืชนั้น ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งเเวดล้อมต่างๆ เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนเเปลงไป แต่มีเกษตรกรเพียงน้อยรายเท่านั้น ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในกระบวนการเพาะปลูกพืช ซึ่งเกิดประโยชน์มากเนื่องจากได้ประหยัดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังเป็นการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

โรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก ผลผลิตปาล์มน้ำมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น การทำน้ำมันพืช เนยเทียม สบู่ เครื่องสำอาง น้ำมันหล่อลื่น และใช้ในการทำน้ำมันไบโอดีเซล เป็นต้น ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ยืนต้น อายุยืนยาวกว่า 100 ปี กระบวนการของโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนั้น จะมีทะลายปาล์มสดที่จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ทำให้มีวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการนี้ คือ ทะลายเปล่า 22 เปอร์เซ็นต์ เส้นใยเปลือก 8 เปอร์เซ็นต์ และกากตะกอนดีแคนเตอร์ 4 เปอร์เซ็นต์ (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน, 2548) แต่เนื่องจากทะลายปาล์มน้ำมันมีน้ำมันในปริมาณที่น้อย ทำให้เป็นวัสดุเหลือทิ้งที่มากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม ทำให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมักทิ้งทะลายปาล์มไว้โดยเปล่าประโยชน์ เเต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นการเพิ่มขยะให้แก่สิ่งแวดล้อม และยังเป็นการสร้างมลพิษทางอากาศ เนื่องจากทะลายปาล์ม ยังคงมีน้ำมันเหลืออยู่ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ น้ำมันที่อยู่ภายในทะลายปาล์มจะทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation) และส่งกลิ่นเหม็น เกษตรกรจึงนำทะลายปาล์มมาคลุมรอบโคนต้นปาล์มที่ยังเล็กเพื่อรักษาความชื้น และป้องกันวัชพืช

ทางคณะผู้จัดทำจึงได้ศึกษาการใช้อัตราส่วนของทะลายปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในปุ๋ยหมักต่อการเจริญเติบโตของต้นดาวเรือง โดยปรับเปลี่ยนอัตราส่วนของทะลายปาล์มน้ำมันจากงานวิจัยของ (วธิดา, 2552) จากการคำนวณธาตุอาหารหลักที่พืชดอกต้องการ (ไนโตรเจน 33%, ฟอสฟอรัส15%, โพเเทสเซียม30%) ให้เพียงพอกับธาตุอาหารหลักที่มีในทะลายปาลม์เปล่าซึ่งเป็นส่วนผสมหลัก ผสมกับมูลไก่ที่มีไนโตรเจนสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และแกลบ ซึ่งมีธาตุอาหารที่สามารถย่อยสลายเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักได้ง่าย โดยมีกระบวนการควบคุมการหมัก ผ่านการควบคุมอุณหภูมิและการให้น้ำ เพื่อรักษาระดับความชื้นให้เหมาะสม เเละเลือกใช้ต้นดอกดาวเรือง พันธุ์วดีริน 018 โกลด์ ในการปลูกทดสอบ เนื่องจากปลูกง่ายโตเร็วให้ดอกดก ลำต้นแข็งแรง ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน เป็นพืชอายุสั้น ปลูกได้ตลอดปี (ณัฐวดี, 2558) ทางคณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ดอกดาวเรืองจะมีความสวยงามและเจริญเติบโตได้ดีจากการใช้ปุ๋ยหมักจากทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันในอัตราส่วนที่เหมาะสมและมีผลผลิตเพียงพอต่อการจำหน่ายของดอกดาวเรือง อีกทั้งทดสอบหาปริมาณธาตุอาหารหลัก ความชื้น เเละวัดค่า pH ของปุ๋ยหมักเพื่อทำการเปรียบเทียบปุ๋ยหมักในแต่ละอัตราส่วน การทำปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์มนั้้น มีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ช่วยปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุย ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน เเละช่วยเพิ่มการใช้ประโยชน์จากธาตุอาหาร เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม ฯลฯ ทำให้พืชเกิดการเจริญเติบโตอย่างสวยงาม นอกจากจะเป็นการลดวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมเเล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรที่พึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นการพึ่งพาธรรมชาติที่ปลอดภัยอีกด้วย