การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์เอื้องมณีฉาย(Thunia bensoniae Hook.f.)

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปราญชลี อรรถมานะ, ศุภกร เสริมศักดิ์, กัณตภณ แสงเรือง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ยงศักดิ์ ขจรผดุงกิตติ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

เอื้องมณีฉาย ( Thunia bensoniae Hook.f. ) เป็นกล้วยไม้ประเภทอิงอาศัยใกล้สูญพันธุ์ จากการรุกรานพื้นที่ป่าของมนุษย์ ถูกนำออกจากป่าไปขายหรือนำไปเลี้ยงเอง และภูมิอากาศที่แห้งแล้งทำให้ต้นเอื้องมณีฉายมีเกาะอาศัยตาย ส่งผลให้จำนวนของเอื้องมณีฉายลดลงในถึง 60% ในระยะเวลา 5 ปี (บุหลัน รันตี, 2561) โดยทั่วไปการขยายพันธุ์กล้วยไม้ในธรรมชาตินั้น ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด แต่ปัจจัยต่างๆในธรรมชาติที่ส่งผลต่อการงอกและการพัฒนาของกล้วยไม้ ยังคงเป็นตัวจำกัดปริมาณการแพร่กระจายของกล้วยไม้ ดังนั้น การใช้เทคนิคและวิธีการในการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ นอกจากจะได้ต้นกล้วยไม้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วยไม้ให้คงอยู่ต่อไปได้อีกด้วย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นเทคนิคหนึ่ง ที่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ช่วยขยายพันธุ์พืชอย่างรวดเร็วให้ได้จำนวนมาก และประสบความสำเร็จกับพืชหลายชนิดในวงศ์กล้วยไม้ (Arditti and Ernst, 1993) สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้นั้น พบมีรายงานไม่มากนัก ดังตัวอย่างโครงการของกิตติศักดิ์ โชติกาเดชาณรงค์ (2563) ที่รายงานการเลี้ยงเนื้อเยื่อเอื้องคำ อย่างไรก็ตามยังไม่พบรายงานการเลี้ยงเนื้อเยื่อเอื้องมณีฉายแต่อย่างใด ดังนั้นในการทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเบื้องต้นถึงผลของอาหารและสารอินทรีย์ ต่อการเพิ่มจำนวนต้นเอื้องมณีฉายได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นและอนุรักษ์สายพันธุ์ เพื่อนำกลับคืนสู่สภาพธรรมชาติต่อไป