การพัฒนาระบบIoT ในการเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ สำหรับฟาร์มปูนาขนาดใหญ่

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

นภกร ทรัพย์สอาด, ชัยชนม์ ศิริรัตน์, กรณ์ดนัย เมษาคุณ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศิลปกรณ์ จันทไชย, ดรุณี วีระพรรณ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การพัฒนาระบบIoT ในการเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ สำหรับฟาร์มปูนาขนาดใหญ่ เป็นการใช้การเลี้ยงดูรูปแบบเดิมเหมือนเลี้ยงแบบเศรษฐกิจ แต่ได้นำอัลกอรึทึมเข้ามาช่วยในการเพาะเลี้ยงปูนา โดยทางคณะผู้จัดทำสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงดูปูนาเพราะ ปูนาเป็นสัตว์ที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก ขายได้ตลอดทั้งปี สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ และมีราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่เนื่องจากปูนาเป็นสัตว์ที่ต้องจำศีลในช่วงฤดูหนาว ทำให้ราคาปูนาในช่วงนี้ค่อนข้างสูงโดยอยู่ที่ประมาณ 80-100 บาท ซึ่งมากขึ้นเกือบเท่าตัว แต่การเลี้ยงดูปูนาในฤดูหนาวนั้นทำได้ยาก เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป รวมถึงปัจจัยอื่นที่ควบคุมได้ยาก ผู้จัดทำจึงได้นำระบบ ไอโอที (IoT : Internet of Things) การใช้บอร์ดควบคุม Wemos Mega ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และมีขาอินพุต/เอาท์พุตที่มาก มีการโปรแกรมการทำงานให้ปรับเปลี่ยนไปตามตัวแปรต่างๆผ่านอัลกอรึทึม ได้แก่ การเปิดปิดวาล์วไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนน้ำในบ่อเมื่อความขุ่นมาก การเปิดใช้งานสปริงเกอร์เพื่อเพิ่มความชื้นให้กับบ่อเมื่อความชื้นลดลง การเก็บข้อมูลจาก เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เซนเซอร์วัดปริมาณแสงอาทิตย์ เซนเซอร์วัดปริมาณน้ำฝนมาเป็นตัวแปรในโปรแกรม เพื่อใช้ในการประมวลผล ได้มีการติดตั้งระบบปรับอุณหภูมิอัตโนมัติจากการวัดอุณหภูมิโดยหลอดไฟ 100w ซึ่งเป็นหลอดไฟให้พลังงานความร้อนและควบคุมความร้อนให้อยู่ในระดับอุณหภูมิประมาณ 26-30 °C และได้นำระบบการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้ามาประยุกต์กับระบบฟาร์ม เพื่อที่จะทำให้ระบบสามารถใช้พลังงานจากตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากภายนอก ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของไฟฟ้าได้ การชาร์จแบตเตอรี่เก็บไว้ในระบบเพื่อดึงมาใช้งานเพื่อทำให้ระบบสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งปี การเลือกใช้พลังงานจากไฟบ้าน เพื่อในกรณีที่แบตเตอร์รี่พลังงานไม่เพียงพอต่อระบบ และยังมีระบบการถ่ายทอดสดวิดิโอจากบ่อ โดยจะมีการติดตั้งกล้องไว้ประจำบ่อ เพื่อใช้ในการตรวจสอบบ่อปู ผ่านแอพลิเคชั่น Blynk ซึ่งสามารถใช้งานได้จากโทรศัพท์มือถือ ทำให้เจ้าของฟาร์มไม่จำเป็นต้องอยู่เฝ้าระบบตลอดเวลา แต่สามารถดูผลการทำงานและอ่านค่าเซนเซอร์ตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบบ่อได้ทันที