การทดลองหาค่าตะกั่วในน้ำจากสีย้อมผ้าโดยใช้กระบวนการทางเคมี

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

วรรณิดา ทองสิงห์, ครองขวัญ บุตรลาด, ณัฐนนท์ ฉิมพินิจ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เนตรนภา บัวเกษ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมสีย้อมยังคงเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากแต่ในการย้อมยังคงใช้สีย้อมจากสีเคมีหรือสีสังเคราะห์ที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากให้สีสันหลากหลายและมีความทนทาน ในการย้อมสีสิ่งต่างๆ เช่น สีย้อม กกที่ใช้ทอเสื่อ สีย้อมผ้า สีย้อมไหม เป็นต้น สีย้อม ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นบางชนิดประกอบไปด้วยโลหะหนัก ยกตัวอย่างเช่น ตะกั่ว เป็นสารที่อันตรายที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งพบว่าสารนี้อาจจะปนเปื้อนใน ระหว่างการย้อมหรือในน้ำทิ้งที่มาจากการย้อมทำให้มีสารตกค้างในดิน พืช น้ำ สัตว์ และส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งผู้ที่ย้อมผ้าและผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงอุตสาหกรรมย้อมผ้าหรืออยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำชุมชนโดยเมื่อร่างกายได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งอาการที่ปรากฏเมื่อได้รับสารตะกั่วปริมาณมาก คือ ปวดท้องอย่างรุนแรงที่เรียกว่า โคลิก อ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ อาการทางสมอง เลือดจาง และอ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต จากการศึกษาพบว่าในสมัยโบราณมีการใช้สีที่สกัดจากสมุนไพรที่หาได้ตามท้องถิ่น หรือพืชพื้นบ้านมาย้อมผม ย้อมผ้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการ รวมทั้งใช้ในสีผสมอาหารด้วย โดยสีธรรมชาติที่นำมาย้อมนั้นจะติดทนนานและไม่เป็นอันตรายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ด้วย เช่น ขมิ้นย้อมสีเหลือง เปลือกต้นสะเดาย้อมสีแดง ดอกอัญชันย้อมสีม่วง และสีนํ้าเงิน หากมีการศึกษาและพัฒนากระบวนการย้อมโดยนำสีธรรมชาติมาทำการย้อมผ้าก็จะเป็นการลดอันตรายจากการตกค้างของสีสังเคราะห์ได้

ทีมผู้พัฒนาจึงได้คิดค้นชุดทดลองหาค่าตะกั่วในน้ำจากสีย้อมผ้าโดยใช้กระบวนการทางเคมีขึ้นและมีการเปรียบเทียบระยะเวลาในการเกิดปฏิกิริยากับตะกั่ว 〖(Pb〗^(2+)) ระหว่างเกลือแกง (NaCl) และกรดไฮโดรคลอริก (HCl) โดยมีวัตถุประสงค์ประการแรกให้ทุกคนตระหนักถึงปริมาณตะกั่วซึ่งเป็นโลหะหนักที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่ปนเปื้อนมาในน้ำที่มาจากสีย้อมผ้า ประการที่สองให้ทุกคนหันมาใช้สีย้อมผ้าจาก ธรรมชาติให้มากขึ้น ประการที่สามเพื่อเป็นข้อมูลในการกำจัดตะกั่วในโอกาสต่อไป ประการที่สี่เพื่อเปรียบเทียบปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่าง NaCl และ HCl