การพัฒนาทุ่นตกปลาจากไส้ในมันสำปะหลังที่เคลือบด้วยยางชัน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
วรวิช จันทร์แว่น, ภาณุวิชญ์ ลีนาค, สรศักดิ์ ปัญญาวิชัย
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
นาถยา อุตมา
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ทุ่นตกปลาเป็นวัสดุสำคัญในการตกปลา ปัจจุบันนิยมผลิตมาจากโฟมและพลาสติกซึ่งภายหลังการใช้งานขยะพลาสติกจากทุ่นตกปลาเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ขยะล้นโลก โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาสมบัติของไส้ในมันสำปะหลังเพื่อใช้ในการทำทุ่นตกปลาและศึกษาประสิทธิภาพของทุ่นตกปลาจากไส้ในมันสำปะหลังในการตกปลา โดยไส้ในมันสำปะหลังมีคุณสมบัติที่เบาและลอยน้ำได้จึงนำมาเคลือบด้วยผงชันยาเรือที่นำมาละลายแล้วและเมื่อผงชันยาเรือที่เคลือบอยู่แข็งตัวจะเพิ่มความแข็งแรงและทำให้มีคุณสมบัติที่กันน้ำได้ แบ่งการทดลองเป็น 2 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 การพัฒนาสมบัติของไส้ในมันสำปะหลังเพื่อใช้ในการทำทุ่นตกปลา โดยนำไส้ในมันสำปะหลังมาเคลือบด้วยผงชันยาเรือที่ละลายแล้ว นำไปทดสอบโดยการนำไปลอยน้ำ การทนต่อแรงดึงของปลาขณะที่ปลาดึงเหยื่อลงไปในน้ำ การดูดซับน้ำเเละระยะเวลาในการย่อยสลาย ตอนที่ 2 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของทุ่นตกปลาจากไส้ในมันสำปะหลังในการตกปลา โดยการนำไปทดลองใช้จริงว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับทุ่นตกปลาตามท้องตลาดหรือไม่ โดยการทดสอบนำไส้ในมันสำปะหลังที่ผ่านการเคลือบด้วยชันยาเรือแล้วมาศึกษาความยาวและตำแหน่งเจาะที่เหมาะสมในการทำทุ่นตกปลา นำไปทดลองใช้งานจริงและเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับสินค้าในท้องตลาด โครงงานนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำขยะทางการเกษตรในท้องถิ่น (ไส้ในมันสำปะหลัง) มาใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยลดการใช้โฟมและพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังอีกด้วย