ผลกระทบของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบต่อกระบวนการการสะสมหยดไขมันภายในเซลล์แมคโครฟาจมนุษย์ ( THP-1-macrophage )

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

หางหงส์ วัฒนานุกูลพงศ์, จิตนิทัศน์ เหมทานนท์, สิรภัทร เหล่าเมฆ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อดิศรี เจริญพานิช

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การอักเสบเป็นกระบวนการตอบสนองของร่างกายต่อการบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือการได้รับสิ่งแปลกปลอม ภาวะอักเสบจะส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เกิดอาการเจ็บปวด บวม ร้อน โดยการอักเสบที่เรื้อรังยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอีกหลายชนิด การใช้ยาต้านการอักเสบจึงมีความสำคัญในการรักษาและป้องกันความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้ยาต้านการอักเสบบางชนิด เช่น เดกซาเมทาโซน อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว จากกลไกการกระตุ้นให้เกิดการสะสมไขมันในเซลล์แมคโครฟาจจนกลายเป็นโฟมเซลล์ (foam cells) งานวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาผลของยาต้านการอักเสบที่มีการใช้ในปัจจุบันเทียบกับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ได้แก่ เควอซิติน ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ กรดเออร์โซลิกสารในกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ เปรียบเทียบกับการได้รับสารก่อการอักเสบ ลิปโพพอลลิแซ็กคาไรด์ ในแง่ฤทธิ์ต่อการสะสมหยดไขมันภายในเซลล์แมคโครฟาจ โดยทำการทดลองในเซลล์แมคโครฟาจมนุษย์ THP-1 ผลการทดสอบเบื้องต้นโดยการให้สารทดสอบเป็นเวลา 3 วัน พบว่าเดกซาเมทาโซนและลิปโพพอลลิแซ็กคาไรด์ ออกฤทธิ์กระตุ้นการสะสมไขมันในแมคโครฟาจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ฤทธิ์ของเควอซิตินและกรดเออร์โซลิกยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเมื่อทำการทดลองซ้ำได้ผลที่แตกต่างกัน โดยเควอซิตินมีแนวโน้มที่ไม่กระตุ้นการสะสมไขมันในแมคโครฟาจ จึงทำการทดสอบเพิ่มเติมโดยเพิ่มความเข้มข้นของเควอซิตินและกรดเออร์โซลิกและปรับวิธีการทดสอบโดยการให้สารเดกซาเมทาโซนและลิปโพพอลลิแซ็กคาไรด์ที่กระตุ้นการสะสมไขมัน ควบคู่กับการให้เควอซิตินหรือกรดเออร์โซลิก เป็นระยะเวลา 3 วัน พบว่าการให้สารเดกซาเมทาโซนหรือลิปโพพอลลิแซ็กคาไรด์ร่วมกับการให้เควอซิตินหรือกรดเออร์โซลิกในเกือบทุกความเข้มข้นเซลล์มีการสะสมไขมันที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นกลุ่มที่ได้รับสารที่มีเดกซาเมทาโซนหรือลิปโพพอลลิแซ็กคาไรด์ควบคู่กับสารเควอซิติน ที่ความเข้มข้น 50 µM และกลุ่มที่ได้รับสารเดกซาเมทาโซนควบคู่กับการให้กรดเออร์โซลิก ที่ความเข้มข้น 10 µM ไม่พบความแตกต่างเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จากนั้นทดสอบโดยการให้สารในช่วงเวลาต่างกัน โดยกระตุ้นเซลล์ด้วยสารเดกซาเมทาโซนและลิปโพพอลลิแซ็กคาไรด์ให้เซลล์มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 1 วัน และให้สารเควอซิตินต่ออีก 2 วัน ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการทำการทดลองและวิเคราะห์ผลการทดลอง อีกทั้งการทดลองเพิ่มเติมเพื่อเทียบกับยา กลุ่ม NSAIDs ตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ