เจลประคบเย็นจากวุ้นไม้ไผ่

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธีรพัฒน์ ประเสริฐ, กฤตพร กริชณรงค์, ปุณยนุช กันทะนิด

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วรางค์จนา เนตรธิยา, กีรติ ทะเย็น

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของชนิดไม้ไผ่ที่มีต่อปริมาณและคุณสมบัติของวุ้นไม้ไผ่

อีกทั้งศึกษาและเปรียบเทียบคุณสมบัติของเจลประคบเย็น จากวุ้นไม้ไผ่และเจลประคบเย็นที่ขายตามท้องตลาด ผลการทดลอง พบว่า ไผ่แต่ละชนิดมีปริมาณวุ้นไม้ไผ่แตกต่างกัน โดยไผ่ซางพบวุ้นไม้ไผ่ในปริมาณมากที่สุด เท่ากับ 55.1 กรัมต่อปล้อง รองลงมาคือ ไผ่กาบแดงและไผ่บง ซึ่งพบวุ้นไม้ไผ่เท่ากับ 37.8 และ 19.4 กรัมต่อปล้อง ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่า ไผ่แต่ละชนิดจะให้วุ้นไม้ไผ่ที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยวุ้นที่ได้จากไผ่แต่ละชนิดจะมีสีที่แตกต่างกัน กล่าวคือ วุ้นจากไผ่ซางมีสีน้ำตาลเหลือง วุ้นจากไผ่กาบแดง มีสีเหลืองอ่อน และวุ้นจากไผ่บงมีสีน้ำตาลแดง แต่วุ้นเหล่านี้มีกลิ่นไม่ฉุนและมีรสจืดเหมือนกัน นอกจากนี้ พบว่า วุ้นจากไผ่ซางมีค่า pH และ ความหนืด มากกว่าวุ้นจากไผ่ชนิดอื่น โดยมีค่า pH และ ความหนืด เท่ากับ 6.82 และ 295.1 cp ตามลำดับ ตลอดจนพบว่า วุ้นจากไผ่ซางเย็นตัวเร็วกว่าและสามารถรักษาความเย็นได้ดีกว่าวุ้นที่ได้จากไผ่กาบแดงและไผ่บง และพบว่า เจลประคบเย็นจากวุ้นไม้ไผ่สามารถเย็นตัวเร็วและมีราคาถูกกว่าเจลประคบเย็นที่ขายตามท้องตลาด แต่มีน้ำหนักมากกว่าและมีระยะเวลาในการใช้งานน้อยกว่าเจลที่ขายตามท้องตลาด