ฟิล์มชีวภาพที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย (E. coli และ S. aureus) จากรากทานตะวันและสารสกัดจากเปลือกทับทิม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชนากานต์ เจริญพงษ์, ลภัสรดา เดชธรรมรงค์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อรทัย ล่ำสัน, วิภาวี ศรีหานนท์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศที่แมลงพาหะรบกวนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแมลงวันบ้าน ซึ่งเป็นพาหะ (Mechanical transmitter) ของเชื้อก่อโรคมากกว่า 65 ชนิด โดยเชื้อที่มีความสำคัญและก่อให้เกิดปัญหาในวงกว้าง คือ เชื้อ Escherichia coli (E.coli) และ Staphylococcus aureus (S.aureus) เชื้อโรคเหล่านี้ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด เป็นต้น โดยที่การปนเปื้อนของเชื้อโรคจากแมลงพาหะส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่แมลงพาหะไปสัมผัสอาหารหรือน้ำดื่ม ดังนั้นการป้องกันไม่ให้อาหารโดนสัมผัสโดยแมลงพาหะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดและป้องกันการเกิดโรคจากแมลงพาหะ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะพัฒนาฟิล์มถนอมอาหารจากรากทานตะวันที่มีการเติมสารสกัดจากเปลือกทับทิมขึ้น ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย E. coli และ S.aureus ขึ้นมา ซึ่งฟิล์มที่ได้จากงานวิจัยจะเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ 100% (biodegradable plastics) ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมีอันตราย เป็นการนำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว (BCG) เนื่องจากฟิล์มประกอบด้วยพอลิบิวทิลีนซัคซิเนต (Polybutylene succinate, PBS) ผสมกับแป้งจากรากทานตะวันและสารสกัดจากเปลือกทับทิมในอัตราส่วนที่เหมาะสม จะส่งผลให้สามารถป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากแมลงวันที่มาเกาะบริเวณผิวฟิล์ม และสามารถขึ้นรูปได้กับเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น เครื่องขึ้นรูปฟิล์มแบบเป่า (Blown film extruder) ทำให้มีความเหมาะสมต่อการนำไปขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้จริงในอนาคต