การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์ค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด และค่าคอเลสเตอรอลรวม โดยใช้วิธีการวิเคราะห์การถดถอย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พิชุดา นิ, ขวัญลักษณ์ ทัศนา, ญานิศา ธูปประทีป

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ไพศาล แมลงทับทอง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนถาวรานุกูล

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยโรคเบาหวานจะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด เป็นต้น โดยน้ำตาลในเลือดนั้นจะส่งผลต่อการเกิดไขมันซึ่งไปเกาะตัวบนผนังหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีโรคอื่น ๆ ตามมา ทั้งนี้ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงและคัดกรองโรคเบาหวาน จะมีการใช้อุปกรณ์ในการตรวจซึ่งไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น สำลี แอลกอฮอล์ เข็ม หลอดฉีดยา ทิวบ์เทา ทิวบ์ม่วง ทิวบ์แดง ซึ่งเป็นหลอดบรรจุเลือดที่ใช้ในการส่งตรวจทางเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น ทำให้ทางสาธารณสุขต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว อีกทั้งในการตรวจเลือดแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลานานในการรอผลเลือด ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความสัมพันธ์ของค่าระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar: FBS) หลังอดอาหาร ค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1C: HbA1C) และค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol: TC) เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ทางคณะผู้จัดทำจึงวางแผนลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเพื่อศึกษาแนวโน้มการเกิดโรคแทรกซ้อนและศึกษาความสัมพันธ์เบื้องต้นของค่าต่าง ๆ ที่ทางการแพทย์ใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในการนี้ทางคณะผู้จัดทำได้ดำเนินการวางแผนขออนุญาตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากสมุทรในการลงเก็บข้อมูลตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar: FBS) หลังอดอาหาร โดยใช้อุปกรณ์ทิวบ์เทาในการเก็บตัวอย่างเลือด, ค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1C: HbA1C) โดยใช้อุปกรณ์ทิวบ์ม่วงในการเก็บตัวอย่างเลือด และค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol: TC) โดยใช้อุปกรณ์ทิวบ์แดงในการเก็บตัวอย่างเลือด แล้วนำผลเลือดทั้งหมดแล้วส่งไปยังห้องทดลองของโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ในผู้ป่วยจำนวน 30 คน จำนวน 3 ครั้ง ในการลงเก็บตัวอย่างดังกล่าวเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของค่าต่าง ๆ แล้วนำมาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ที่ใช้ในการพยากรณ์ ค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1C: HbA1C) จากระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar: FBS) หลังอดอาหาร และพยากรณ์ค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol: TC) จากระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1C: HbA1C) และระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar: FBS) หลังอดอาหาร โดยคณะผู้จัดทำคาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะสามารถสร้างแบบจำลองได้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้น (Regression Analysis) นอกจากนี้แบบจำลองดังกล่าวจะต้องมีความแม่นยำในการพยากรณ์ค่าต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขทางคณะผู้จัดทำจะดำเนินนำแบบจำลองดังกล่าวมาสร้างเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปโดยเฉพาะเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของเจ้าหน้าที่สามารถลดทรัพยากรของทางโรงพยาบาลในการตรวจเลือด ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณของทางโรงพยาบาลได้เป็นอย่างมาก และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขจะสามารถประเมินแนวโน้มทางสุขภาพของผู้ป่วยและให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยได้ โดยทันทีผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปที่ทางคณะผู้จัดทำสร้างขึ้น