การศึกษาวิธีการสกัดและทดสอบประสิทธิภาพของวุ้นจากสาหร่ายผมนาง ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชนิกกานต์ สุวรรณเนาว์, สิริยากร เขียววิจิตร

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เยาวพรรณ สนธิกุล, นิตยา อัมรัตน์​

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันการเกษตรได้ใช้ประโยชน์จากเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในหลาย ๆ ด้าน เช่น การขยายพันธุ์พืชให้เพิ่มปริมาณมากขึ้น การผลิตพืชที่ปราศจากเชื้อโรค การปรับปรุงหรือพัฒนาพันธุ์พืช

เป็นต้น (ภุมรินทร์, 2561) ความสำเร็จของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้ง วุ้นยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นสารที่ทำให้อาหารแข็งตัว เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และยังเป็นแหล่งธาตุอาหารและวิตามินให้กับต้นพืชได้อีกด้วย

สาหร่ายผมนางอยู่ในสกุล Gracilaria ที่เป็นแหล่งของสารไฮโดรคอลลอยด์ และยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตวุ้นผงของโลก (McHugh, 2003) สำหรับในประเทศไทยพบแพร่หลาย กระจายอยู่ตามชายฝั่งของอ่าวไทย

ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงนำเอาสาหร่ายผมนางซึ่งเป็นสาหร่ายที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในพื้นที่ทุ่งไสไช ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาสกัดวุ้นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบใน

การเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกุหลาบหนูและเบญจมาศ เพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสกัดวุ้นให้เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทั้งในด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับสาหร่ายผมนางต่อไป