การดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยแคลเซียมออกไซด์จากเปลือกหอยแครงและไคโตซานจากกระดองปู

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

แพรวแพรวา ศรีฟ้า, ฐิติวรดา อ่อนน้อย

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศรัณยู ใคลคลาย, ยุทธพงศ์ เพียรโรจน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นแก๊สเรือนกระจกที่สำคัญสามารถกักเก็บพลังงานความร้อนเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ จากสถิติในปี ค.ศ. 2022 พบว่ามีระดับความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 421 ppm ในชั้นบรรยากาศโลก มีสาเหตุจากการคมนาคมและการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการปล่อยควันเสียและควันจากการเผาไหม้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (Climate Change) หรืออากาศมีความแปรปรวนทั่วโลกตามมาได้ในภายหลัง

จากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น คณะผู้วิจัยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงศึกษากระบวนการที่จะช่วยลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วพบว่ากระบวนการดูดซับสามารถลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยกระบวนการดูดซับมีการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่ตํ่า แต่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแก๊สโดยใช้สารดูดซับ ในงานวิจัยนี้ได้เลือกสาร 2 ชนิด ได้แก่ ไคโตซาน และ CaO เป็นสารดูดซับ เนื่องจากไคโตซานมีหมู่เอมีน (Amine group) ที่สามารถใช้ในการดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วน CaO มีความเป็นรูพรุน เมื่อรวมตัวกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิดเป็นตะกอน CaCO3 ขึ้น งานวิจัยนี้ได้มีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของสารดูดซับชนิดต่าง ๆ ได้แก่ CaO ไคโตซาน และสารผสม CaO และไคโตซาน โดยพิจารณาประสิทธิภาพจากปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลือหลังการผ่านท่อดูดซับด้วยเครื่องวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร ซึ่งคณะผู้วิจัยคาดหวังว่างานวิจัยนี้จะช่วยลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกระดองปูม้าและเปลือกหอยแครงได้