การเพิ่มประสิทธิภาพอิฐบล็อกด้วยยางพาราและซิลิกาจากเถ้าแกลบ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อภิญญา โชติสนธ์, อินธิรา สมศรีโย, กัญธิชา พลเสนา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุรศักดิ์ บุญธิมา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงาน เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพอิฐบล็อกด้วยยางพาราและซิลิกาจากเถ้าแกลบ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมบัติทางกายภาพ และสมบัติเชิงกลของอิฐบล็อก ให้อิฐบล็อกมีความแข็งแรง สามารถป้องกันความชื้น และสามารถลดความเสี่ยงจากการติดไฟได้ง่ายของยางพารา เพื่อประยุกต์ใช้วัสดุที่มีในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ และเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน โดยศึกษาผลของปริมาณยางพาราและเถ้าแกลบขาว ซึ่งมีองค์ประกอบของซิลิกา อัตราส่วนต่างๆ ให้ได้อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับการขึ้นรูปอิฐบล็อก และได้อิฐบล็อกที่มีสมบัติตามต้องการ ในขั้นตอนของการทำอิฐบล็อก สามารถแบ่งขั้นตอนของการศึกษาได้ 5 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 การเตรียมน้ำยางพารา เพื่อไล่ความชื้น และไม่ให้นำยางพาราจับตัวเป็นก้อน ตอนที่ 2 การเตรียมเถ้าแกลบขาว (เพื่อให้ได้ปริมาณของซิลิก เป็นองค์ประกอบมากที่สุด) ตอนที่ 3 การทำอิฐบล็อก เป็นการนำส่วนผสมและวัสดุสำหรับการทำอิฐบล็อกมาผสมกันตามขั้นตอนของการทำอิฐบล็อก ได้แก่ ทราย เกล็ดหินอ่อน ปูนปอร์ตแลนด์ เถ้าแกลบ ปูนซีเมนต์ และน้ำยางพาราสด โดยเลือกใช้เถ้าแกลบขาวในอัตราส่วนร้อยละ 20 30 และ40 ของปริมาณส่วนผสม จากนั้นจึงนำมาใส่ในบล็อกคอนกรีต แล้วใส่ใยมะพร้าวลงไปทีละชั้น สุดท้ายนำไปตากแดดให้แห้ง ตอนที่ 4 ทดสอบความแข็งแรงของอิฐบล็อก โดยหาแรงกดสูงสุดของอิฐและการทดสอบแรงอัดของอิฐ ตอนที่ 5 ทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันความชื้นของอิฐบล็อกโดยหาเปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำของอิฐทดสอบ และตอนที่ 6 ทดสอบการไม่ติดไฟของอิฐบล็อก โดยใช้วิธีและเกณฑ์ตามมาตรฐานการทดสอบการทนไฟ