การศึกษาความสัมพันธ์ของความแน่นเนื้อปูด้วยคลื่นความถี่เสียงเพื่อสร้างอุปกรณ์วัดความสดของปู
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ณัฐชนน กำไร, สุวิจักขณ์พล ผาบุญมา
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ภัชรพงศ์ พระไว, มนัส สิทธิโชคธรรม
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันอาหารทะเลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเมนูปิ้งย่างหรือการนำวัตถุดิบมาประกอบอาหารซึ่งล้วนต้องการความสดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปูม้าที่สามารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุก แต่เนื่องจากผู้ซื้อมักไม่มีประสบการณ์ในการเลือกจึงมักได้ปูที่ไม่มีคุณภาพตามราคาที่ต้องการ โดยได้ปูที่ไม่สดและเนื้อไม่แน่น หรือแม้ว่าจะเลือกซื้อปูที่ยังมีชีวิตก็อาจจะไม่ได้ปูที่เนื้อแน่น เนื่องจากบางครั้งปูม้าที่ขายไม่หมดจะถูกขังไว้และไม่ได้รับสารอาหารทำให้เนื้อล่ม ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการจำแนกความแน่นเนื้อของปูโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างความถี่เสียงจากการเคาะที่กระดองปูและความสดของเนื้อปู โดยนิยามความสดของปูคือความแน่นเนื้อหลังจากต้มให้สุก จากการวิจัยพบว่าส่วนที่เหมาะสมกับการวัดความแน่นเนื้อมากสุดคือ กรรเชียงปู, เนื้อก้ามบน และเนื้อก้ามล่าง เพราะเป็นส่วนที่มีปริมาณเนื้อมากที่สุดเมื่อเทียบกับเนื้อในส่วนอื่น ใช้วิธีการหาความถี่เสียงจากการปล่อยลูกเหล็กบนความสูงให้ตกลงมาที่จุดต่างๆบนกระดองปู ผลที่ได้จากการทดลองคือปูที่มีความถี่เสียงต่ำจะมีความแน่นเนื้อสูง ส่วนปูที่มีความถี่เสียงสูงจะมีความแน่นเนื้อต่ำ เมื่อได้ความสัมพันธ์ในรูปของสมการแล้วจะเป็นแนวทางในการนำไปสร้างเครื่องวัดความสดปูแบบอัตโนมัติต่อไป