ถุงมือแปลภาษามือสำหรับช่วยผู้บกพร่องทางการได้ยิน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ธนัท อยรังสฤษฏ์กุล, ภูดิศ ตันสกุล
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
วัฒนะ รัมมะเอ็ด
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้บกพร่องทางการได้ยินมากถึง 391,785 คน ซึ่งคิดเป็น 18.87% ของผู้พิการทั้งหมดในประเทศไทย โดยผู้บกพร่องทางการได้ยินนั้น เป็นอีกกลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาสในด้านการสื่อสารซึ่งจัดเป็นความสามารถพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคม เนื่องด้วยผู้บกพร่องทางการได้ยินจำเป็นต้องใช้ภาษามือในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ในขณะที่ภาษาที่คนทั่วไปใช้กันคือภาษาพูด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนทั่วไปในการสื่อสารกับคนที่บกพร่องทางการได้ยิน ส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่อการติดต่อและช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ผู้จัดทำจึงมีความคิดที่จะนำเทคโนโลยีการตรวจสอบตำแหน่งมือและการเรียนรู้เชิงลึกมาใช้ในการแปลภาษามือเป็นภาษาพูด โดยการแสดงผลในรูปแบบเสียงผ่านลำโพง อีกทั้งยังสามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน ส่งผลให้ผู้พร่องทางการได้ยินเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ ได้มากขึ้น และสามารถพูดคุย ติดต่อ สื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของโครงงานคือ จากการที่ถุงมือยังมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ จึงควรที่จะปรับให้ขนาดที่กะทัดรัดมากขึ้น และมีการแสดงผลหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การแสดงผลผ่านทางหน้าจอในรูปแบบข้อความ รวมถึงความเร็วของถุงมือที่ควรจะทำให้รวดเร็วมากขึ้น