ผลของการใช้บิสกิต เศษเซรามิก เศษแก้วต่อประสิทธิภาพและการลดต้นทุนในการผลิตแผ่นกระเบื้องปูพื้น

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

รัฐศาสตร์ อินทร์อยู่, คนิตชา เรือนใจ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ชุติปภา เสียงเย็น

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง ผลของการใช้บิสกิต เศษเซรามิก เศษแก้วต่อประสิทธิภาพและการลดต้นทุนในการผลิตแผ่นกระเบื้องปูพื้น โดยการทดลองมี 3 ขั้นตอนคือ ศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างแผ่นกระเบื้องปูพื้นที่มีอัตราส่วนของดินขาวมาตรฐาน ดินขาวต่อบิสกิต ดินขาวต่อเศษเซรามิก ในอัตราส่วน 50 : 50 , 40 : 60 และ 30 : 70 ตามลำดับ ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างน้ำเคลือบกระเบื้องเซรามิกสูตรเคลือบรานมาตรฐาน และน้ำเคลือบกระเบื้องเซรามิกสูตรเคลือบรานจากเศษแก้ว โดยนำมาเปรียบเทียบคุณสมบัติการทนต่อสารเคมีในชีวิตประจำวัน การทนต่อแรงดันและการขัดผิว และขั้นตอนที่ 3 เปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตแผ่นกระเบื้องปูพื้นที่มีส่วนผสมของดินมาตรฐาน บิสกิตและเศษเซรามิกที่ผ่านการเคลือบด้วยน้ำเคลือบสูตรเคลือบรานมาตรฐาน และน้ำเคลือบสูตรเคลือบรานจากเศษแก้วสีใส สีเขียว และสีชา จากการทดลองพบว่า แผ่นกระเบื้องปูพื้นแต่ละอัตราส่วนมีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกันเมื่อเทียบกับแผ่นกระเบื้องปูพื้นทั่วไป เช่น กระเบื้องปูพื้นที่สามารถหดตัวได้น้อย ค่าการดูดซึมน้ำน้อยและมีค่าความทนทานหลังการเผามากที่สุดคือ แผ่นกระเบื้องที่มีส่วนผสมของดินขาวต่อบิสกิตจากแหล่งผลิตทุกชนิด ในอัตราส่วน 50:50 ส่วนแผ่นกระเบื้องที่มีส่วนผสมของดินขาวต่อบิสกิตจากแหล่งผลิตทุกชนิด ในอัตราส่วน 30:70 มีค่าน้ำหนักน้อยที่สุด สิ่งที่กล่าวมาคือเปอร์เซ็นต์การหดตัวน้อย เปอร์เซ็นต์ค่าความแข็งแกร่ง เปอร์เซ็นต์การดูดซึมน้ำน้อย ถือว่าเป็นประสิทธิภาพของแผ่นกระเบื้องปูพื้นโดยอ้างอิงจาก มาตรฐาน มอก. ฉบับที่ 602-2529 จึงกล่าวได้ว่า แผ่นกระเบื้องปูพื้นที่มีส่วนผสมของบิสกิตและเศษเซรามิกในแต่ละอัตราส่วนมีข้อดีต่างกัน และน้ำเคลือบที่มีส่วนผสมของเศษแก้วสีใส สีเขียวและสีชา มีคุณสมบัติเหมาะสม และสามารถนำมาใช้เป็นสีเคลือบกระเบื้องปูพื้นเมื่อเทียบกับน้ำเคลือบสูตรมาตรฐาน โดยสามารถทนต่อสารเคมีในชีวิตประจำวันและไม่เกิดรอยในการขัดผิว สีเคลือบไม่หลุดขณะทดสอบการทนต่อแรงดัน และยังสามารถลดปริมาณการใช้ดินขาวรวมทั้งใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยกว่าแผ่นกระเบื้องที่มีส่วนผสมดินมาตรฐานและจากผลการศึกษาก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจผลิตแผ่นกระเบื้องปูพื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการโรงงานแผ่นกระเบื้องปูพื้นและประชาชนที่สนใจทั่วไป