ศึกษาและเปรียบเทียบประสิทธิภาพแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จากเส้นใยผักตบชวา แผ่น ไฟเบอร์ซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อย และแผ่นซีเมนต์จากแร่ใยหิน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ปิยธิดา พิกุลเวชช, เมธาพร พัฒนะพรอุดม
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
นิติ ไชยวงคต
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จากเส้นใยผักตบชวา และแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อย โดยวิธีการดำเนินงานขั้นแรก คือการเตรียมวัสดุ ชนิดแรกเป็นเส้นใยผักตบชวา โดยนำมาขูดแบบเส้นตรงแล้วนำไปผึ่งลมให้แห้ง และชนิดที่ 2 คือ เถ้าชานอ้อย โดยนำเถ้าชานอ้อยที่เผาแล้ว ไปอบความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศา แล้วบดด้วยเครื่องบดความละเอียดสูง ขั้นต่อไปคือ การทำแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยตวงน้ำ แล้วนำปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และเส้นใยผักตบชวาหรือเถ้าชานอ้อย มาผสมด้วยอัตราส่วน 10:3:6 กวนส่วนผสมจนเข้ากันดี แล้วนำไปเทลงแม่พิมพ์ขนาด 11x11x7 ทิ้งไว้เป็นเวลา 14 วัน ขั้นสุดท้ายคือ การทดสอบชิ้นงาน เริ่มจากการทดสอบการดูดซึมน้ำ โดยอบชิ้นทดสอบที่อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส แล้วชั่งน้ำหนักแล้วบันทึกค่าน้ำหนักแห้ง จากนั้นวางชิ้นทดสอบในหม้อต้มที่มีตะแกรงอยู่ภายใน ต้มน้ำจนเดือดนาน 2 ชม. ชั่งน้ำหนักแล้วบันทึกค่าน้ำหนักเปียก แล้วใช้สูตรคำนวณค่าการดูดซึมน้ำ ต่อไปคือ การทดสอบกำลังรับแรงอัด โดยวัดขนาดพื้นที่ตัดขวางของชิ้นทดสอบแล้วนำไปวางตรงกลางของเครื่องทดสอบแรงกดมาตรฐานแบบไฮดรอลิค บันทึกค่าน้ำหนักกดสูงสุดที่ชิ้นทดสอบสามารถรับได้ แล้วใช้สูตรคำนวณกำลังรับแรงอัด ผลการทดลองพบว่าแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จากเส้นใยผักตบชวามีน้ำหนักเบาและมีค่าการดูดซึมน้ำน้อยกว่าแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อย แต่แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จากเถ้าชานอ้อยสามารถรับแรงอัดได้มากกว่า