การศึกษาการเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของเปลือกส้มโอ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุทัตตา ศิวกาญจน์, ชนัญชิดา กิตติวิรยานนท์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ปราโมทย์ น้ำยาง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสตรีวิทยา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

​การศึกษาการเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของเปลือกส้มโอ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อผลิตสารดูดซับยิ่งยวด (SAPs) จากเปลือกส้มโอทดแทนวัสดุสังเคราะห์ 2. เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่ทำให้ SAPs จากเปลือกส้มโอมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำมากที่สุด 3. เพื่อศึกษาผลของ SAPs ที่มีผลต่อการกำจัดวัชพืช มีขั้นตอนการดำเนินงานคือ นำเปลือกส้มโอไปแช่กรด เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นนำไปต้มจนน้ำระเหยไปจนหมดแล้วนำไปตากแดด โดยแบ่งระยะเวลาในการตากแดดของ SAPs ออกเป็น 5 ระยะ คือ 1 วัน, 2 วัน, 3 วัน, 4 วัน, และ 5 วัน เพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ทำให้ SAPs มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำมากที่สุด จากนั้นนำไปอบให้แห้งในเตาอบที่ 180°c เป็นเวลา 20 นาทีแล้วนำไปปั่นจนเป็นผง หลังจากนั้นนำมาทดสอบประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ โดยนำ SAPs ที่ได้จากการตากแดด 5 เวลาในปริมาณที่เท่ากันมาเติมน้ำในปริมาณที่เท่ากันแล้วตั้งทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำไปชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณหาค่าร้อยละของประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ จากนั้นนำ SAPs ไปทดสอบการกำจัดวัชพืชโดยแบ่งชุดการทดลองออกเป็น 3 ชุด เพื่อศึกษาผลของ SAPs ในการกำจัดวัชพืชคือ ชุดที่ 1 ใส่ดิน 100 กรัม, ชุดที่ 2 ใส่ดิน 100 กรัม ผสมกับ SAPs 10 กรัม, ชุดที่ 3 ใส่ดิน 100 กรัม ผสมกับ SAPs 30 กรัม ผลที่ได้คือ 1. สามารถผลิต SAPs ได้ 2. พบว่า SAPs ที่ตากแดด 5 วันจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากที่สุด แต่เมื่อลดจำนวนวันที่ตากแดดลง พบว่าไม่มีผลต่อการกักเก็บน้ำใน SAPs อย่างมีนัยสำคัญ 3. พบว่าวัชพืชมีการเจริญเติบโตช้า เมื่อผสมกับ SAPs ในปริมาณมาก