การคัดแยกแมลงหางดีดจากซากก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าเพื่อใช้ควบคุมเชื้อราก่อโรคพืช

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พันธกานต์ อินยาศรี, มคพล คมสาคร, นรัญญา ขันทา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เกียรติศักดิ์ อินราษฎร, สุธิพงษ์ ใจแก้ว

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การเข้าทำลายและการสะสมของเชื้อรา Asperigillus sp. ของผลและรากที่อยู่ใต้ดินเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรและอาจส่งผลให้เกิดสารพิษตกค้างสู่ผู้บริโภคได้ โครงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อการคัดแยกแมลงหางดีดจากซากก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าเพื่อใช้ควบคุมเชื้อราก่อโรคพืช โดยจากข้อสังเกตพบว่าซากก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าทิ้งไว้บางก้อนจะไม่พบการเจริญของเชื้อราเลย แต่พบแมลงหางดีดอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสันนิฐานว่าแมลงหางดีดดังกล่าวอาจมีบทบาทสำคัญในการกำจัดเชื้อราได้ จึงทำการทดลองคัดแยกแมลงหางดีดที่พบในซากก้อนเชื้อเห็ด พบแมลงหางดีดชนิด Collembola sp. อยู่อย่างหนาแน่น เมื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรา Asperigillus sp. พบว่าการใช้แมลงหางดีด 25 และ 30 ตัว สามารถควบคุมเชื้อราในพื้นที่ 250 ml ได้ โดยมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากการใช้สารเคมี จากนั้นจึงทดลองนำแมลงหางดีดดังกล่าวทดสอบการควบคุมการเกิดโรคของต้นหนวดปลาหมึกในสวนขวดแก้วและถั่วลิลงที่ปลูกในกระถาง พบว่าการใช้แมลงหางดีดสามารถลดการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อราได้ดีกว่าชุดควบคุมถึง 2.5 และ 2.6 เท่าในต้นหนวดปลาหมึกในพืชสวนขวดแล้วและในต้นถั่วลิสง ตามลำดับ ทั้งนี้แมลงหางดีดไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช และทำให้มีผลผลิตของถั่วลิสงเพิ่มมากขึ้น โครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการควบคุมการเกิดเชื้อราก่อโรคพืชแบบชีววิถี ลดการใช้สารเคมีที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยแมลงดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการย่อยสลายของอินทรีย์วัตถุ