เครื่องอบอาหารแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุพิชชา สุปินะ, สุชีรา ตาคำ, มณทิรา คำชุ่ม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุณัฐชา โนจิตร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การอบแห้งเป็นการลดปริมาณน้ำ หยุดการทำงานของเอนไซม์ และชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเสียของอาหาร และจุลินทรีย์ก่อโรค การอบอาหารแห้ง จึงเป็นวิธีการถนอมอาหารวิธีหนึ่งซึ่งสามารถยืดอายุของอาหารได้ เช่น หมูแดดเดียว และปลาแดดเดียว ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการตากแห้งโดยใช้แสงอาทิตย์ที่ใช้ระยะเวลานาน และอาจมีสิ่งปนเปื้อนได้ เช่น ไข่แมลงวัน เป็นต้น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้เครื่องอบลมแห้ง เครื่องอบลมแห้งโดยทั่วไปต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมาก เพราะเป็นการให้พลังงานความร้อน จึงถือเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรจึงทำให้ได้รับแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องและคงที่ตลอดทั้งปี ความเข้มของแสงโดยเฉลี่ยของการแผ่รังสีในแต่ละวันในประเทศไทยมีประมาณ 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการพัฒนา แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่เราสามารถใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีปริมาณที่ไม่จำกัด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ เราจึงมีความต้องการที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในขั้นตอนการสร้างเครื่องอบอาหารแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้จัดทำต้องการศึกษาและเปรียบเทียบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของจานพาราโบลา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเครื่องอบ รูปทรงของเครื่องอบ จำนวนรูระบายอากาศ และสีที่เหมาะสมต่อเครื่องอบอาหารแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และทำการตรวจสอบโดยเปรียบเทียบกับการตากแห้งแบบปกติ นอกจากนี้ทางผู้จัดทำได้สร้างเครื่องอบอาหารแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จากวัสดุที่หาได้โดยทั่วไป และวัสดุที่มีราคาถูก

ด้วยเหตุนี้ทางผู้จัดทำจึงได้สร้างเครื่องอบอาหารแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ปราศจากสิ่งปนเปื้อน ย่นระยะเวลาในการตากแห้ง และสามารถใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าได้