การเปลี่ยนหมู่ฟังก์ชันของเซลลูโลสจากชานอ้อยเพื่อบำบัดน้ำเสีย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สิริกานต์ สงวนทรัพย์, สมิตรา พัฒนธารทิพย์, วรรณกานต์ ตันติเบญจธรรม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สอาด ริยะจันทร์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบัน น้ำที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมมักมีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก ซึ่งสารโลหะหนักเหล่านี้ก่อให้เกิดน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารอันตรายทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำได้รับสารพิษและอาจเกิดการลดจำนวนประชากรลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความสมดุลในระบบนิเวศ ก่อให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำและกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ อีกทั้งยังสามารถสะสมในร่างกายมนุษย์ได้จากการบริโภค ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ อีกด้วย

งานวิจัยนี้ได้ทำการแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้

1.นำชานอ้อย,เซลลูโลส,คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส(CMC) มาทดสอบสมบัติ จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบค่า%moisture content และค่า%การละลาย ที่อุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ผลปรากฏว่าค่า%moisture content และ ค่า%การละลายของคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส(CMC) นั้นมากกว่าชานอ้อยและเซลลูโลสทั้งในอุณหภูมิห้องและที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส จึงสรุปได้ว่า คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส(CMC) นั้นมีความสามารถในการละลายและความสามารถในการดูดความชื้นมากกว่าชานอ้อยและเซลลูโลส ดังนั้นคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส(CMC) จึงมีความเหมาะสมที่จะนำไปกราฟต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนักมากที่สุด

2.นำคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส(CMC) มากราฟต์กับพอลิอะคริลาไมด์ในอัตราส่วนคือ 5 : 0.5 , 5 : 1 , 5: 1.5, 5 : 2 และ 5 : 0 จากนั้นนำมาเปรียบเทียบค่า %การละลายที่อุณหภูมิปกติและที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ผลปรากฏว่า %การละลายของคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสกราฟต์พอลิอะคริลาไมด์(CMC-g-PAM) ในอัตราส่วน 5 : 1.5 นั้นมีความสามารถในการละลายต่ำกว่าอัตราส่วนอื่น ๆ ดังนั้น CMC-g-PAM ในอัตราส่วน 5 : 1.5 จึงมีคุณสมบัติพื้นฐานเหมาะสมที่จะนำไปดูดซับโลหะหนักมากที่สุด