การสังเคราะห์ซีโอไลต์ เอ โดยใช้เถ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและชีวมวล และการประยุกต์ใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
นงลักษณา สานนท์, อรุณรัศมี สัตนาโค, พุทิตา ยางงาม
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
สายสมร ลำลอง, พรพรรณ พึ่งโพธิ์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสังเคราะห์ Zeolite A จากเถ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และโรงงานน้ำตาลมิตรผล จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ และพารามิเตอร์ที่เหมาะสมในการดูดซับสีย้อมเมทิลีนบลู, บริลเลียนกรีน และโลหะหนัก สังกะสี (II) (Zn2+) ทองแดง (II) (Cu2+) และตะกั่ว (II) (Pb2+) โดยคณะผู้จัดทำได้พิสูจน์เอกลักษณ์เถ้าทั้ง 2 ชนิด ด้วยการตรวจสอบลักษณะพื้นที่ผิวด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM : Scanning Electron Microscope), เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF: X-ray fluorescence) และการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (XRD : X-ray Diffractometer) และนำมาสังเคราะห์ Zeolite A ผ่านกระบวนการไฮโดรเทอร์มอล เพื่อให้ได้วัสดุดูดซับที่มีประสิทธิภาพสูง และมีต้นทุนต่ำเพื่อใช้ในการดูดซับแบบกะ เพื่อหาประสิทธิภาพ และพารามิเตอร์ที่เหมาะสม และนำไปพิสูจน์เอกลักษณ์ของตัวดูดซับทั้ง 2 ชนิดด้วยเทคนิค SEM (Scanning Electron Microscope), XRF (X-ray fluorescence) และ X-ray Diffractometer (XRD) ซึ่งจากการศึกษา พบว่า ปริมาณ Zeolite A จากเถ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และเวลาที่เหมาะสมในการดูดซับสีย้อมเมทิลีบลู, สีย้อมบริลเลียนกรีน คือ 20 กรัมต่อลิตร ดูดซับเป็นเวลา 15 นาที โดยมีประสิทธิภาพการดูดซับที่ 99% ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 100 ppm สำหรับโลหะหนัก Zn2+ และ Pb2+ เวลาที่เหมาะสมในการดูดซับคือ 60 และ 30 นาที ปริมาณตัวดูดซับที่เหมาะสม คือ 20 กรัมต่อลิตร โดยประสิทธิภาพการดูดซับคือ 96 และ 99% ตามลำดับ ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 50 ppm และ Cu2+ เวลาที่เหมาะสมในการดูดซับคือ 60 นาที ปริมาณตัวดูดซับที่เหมาะสมในการดูดซับคือ 4 กรัมต่อลิตร และมีประสิทธิภาพการดูดซับ คือ 99% ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 50 ppm สำหรับ Zeolite A จากเถ้าโรงน้ำตาลมิตรผลมีปริมาณที่เหมาะสมในการดูดซับสีย้อม เมทิลีนบลู และ บริลเลียนกรีน 20 กรัมต่อลิตร เวลาที่เหมาะสมในการดูดซับคือ 15 นาที มีประสิทธิภาพการดูดซับคือ 99% ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 100 ppm สำหรับโลหะหนัก Zn2+, Pb2+ ปริมาณตัวดูดซับที่เหมาะสมคือ 20 กรัมต่อลิตร เวลาที่เหมาะสมในการดูดซับ 15 นาที ประสิทธิภาพการดูดซับ 99% และ Cu2+ ปริมาณตัวดูดซับที่เหมาะสมคือ 4 กรัมต่อลิตร เวลาดูดซับที่เหมาะสมคือ 30 นาที โดยมีประสิทธิภาพการดูดซับ คือ 97% ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 50 ppm จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นได้ว่า ตัวดูดซับที่สังเคราะห์จากเถ้าทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพการดูดซับสีย้อมอุตสาหกรรม และโลหะหนักที่สูง สามารถสังเคราะห์ได้ง่าย และประหยัดต้นทุน และจะนำไปประยุกต์ใช้ในการ ดูดซับแบบคอลัมน์เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียในอนาคต