การเพิ่มผลผลิตของเห็ดหลินจือ ด้วยการใช้แบคทีเรีย Bacillus sp. ที่แยกได้จากก้อนเชื้อเห็ดหูหนูเก่า
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
พิศเจริญ สาคร, ศศิพิชญ์ สมใจ, พีศกรณ์ ครองศิล
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ธนาศักดิ์ กองโกย
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum (Leyss. ex Fr.) Karst.) ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ เนื่องจากมีสารสำคัญ เช่น สารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต สเตอรอยด์ ไตรเทอร์ปินอยด์ชนิดขม ที่ใช้ในการกําจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย, ลดพิษที่มีต่อตับ, ลดไขมันในเส้นเลือด และอื่นๆ แต่ในปัจจุบันไม่สามารถผลิตเห็ดหลินจือได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าแบคทีเรียตระกูล Bacillus ที่คัดแยกได้จากก้อนเชื้อเห็ดเก่า มีคุณสมบัติส่งเสริมการเจริญของเห็ด ได้หลายชนิด (mushroom growth promoting bacteria: MGPB) แต่การศึกษาในเห็ดหลินจือยังมีอยู่อย่างจำกัด งานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อ คัดแยกแบคทีเรีย Bacillus sp. จากก้อนเชื้อเห็ดเก่า และทดสอบประสิทธิภาพของเซลล์แขวนลอยแบคทีเรียที่คัดแยกได้ต่อการเจริญเติบโตและการสร้างสาร Beta-D glucan, Triterpenoids และ Ganodosterone ของเห็ดหลินจือ โดยมีวิธีการทดลอง 3 ขั้นตอนคือ 1. คัดแยกแบคทีเรียจากก้อนเชื้อเห็ดเก่าด้วยด้วยทำ serial dilution และ spread plate และนำโคโลนีมาตรวจสอบว่าเป็น Bacillus sp. ด้วยการย้อมแกรมและศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ 2. คัดเลือกแบคทีเรีย Bacillus ที่มีคุณสมบัติไม่ยับยั้งการเจริญของเชื้อเห็ดหลินจือด้วยวิธี dual culture 3. ทดสอบประสิทธิภาพของสารแขวนลอยแบคทีเรีย (bacterial suspension) ต่อผลผลิตของเห็ดหลินจือด้วยการฉีดพ่นลงบนก้อนเชื้อเห็ดหลินจือเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่ใช้น้ำกลั่น โดยวัดจากการชั่งน้ำหนักแห้งและน้ำหนักสด และส่งตรวจวิเคราะห์สาร Beta-D glucan , Triterpenoids และ Ganodosterone ซึ่งผลวิจัยที่ได้จะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเพิ่มผลผลิตเชิงพาณิชย์ของเห็ดหลินจือด้วยวิธีชีวภาพ ลดต้นทุนและความเสี่ยงของการใช้สารเคมี หรือสารเร่งการเจริญของเห็ดที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค