ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากต้นประยงค์และข่าในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Pyricularia oryzae. ที่ก่อให้เกิดโรคไหม้ของข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ญาดา รัญชัย, วลีพร หาญชนะ, วันวิสาข์ บัวพงษ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อภิวัฒน์ ศรีกัณหา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนชุมแพศึกษา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ภาพรวมของโครงการวิจัย :

ข้าวทับทิมชุมแพ ชื่อพันธุ์ กข69 (ทับทิมชุมแพ RD69) ชนิด ข้าวเจ้า ปลูกและประเมินลักษณะประจำพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เกิดจากการผสมพันธุ์ข้าวระหว่างข้าวพันธุ์สังข์หยดและข้าวหอมมะลิ 105 ลักษณะเด่นเป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ไม่ไวต่อช่วงแสง ทรงต้นเตี้ย ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ด และคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี ข้าวกล้องหุงสุกนุ่ม และมีรสชาติดี ที่สำคัญอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพนั้น มีสารอาหารที่มีประโยชน์เหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบัน กับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นข้าวที่กำลังเป็นที่นิยมปลูกในพื้นที่อำเภอชุมแพและพื้นที่ใกล้เคียง (ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ,2558) แต่จากการศึกษาพบว่าข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพคือ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง และขอบใบแห้ง (กรมการข้าว,2559)

โรคไหม้ (Rice Blast Disease) สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pyricularia oryzae. โดยในระยะกล้าใบมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ ระยะแตกกออาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ และระยะคอรวง (ออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด รวงข้าวมีสีซีดขาว แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก (กรมการข้าว,2559)

การยับยั้งและการกำจัดโรคไหม้ สามารถทำได้หลายวิธี มีทั้งการป้องกันและการกำจัดเมื่อพบการระบาดของโรคไหม้ในแปลงข้าว โดยมักทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา ซึ่งจะเห็นว่าการใช้สารเคมีมีความเสี่ยงต่อการตกค้างของสารเคมีในผลผลิตข้าวและไม่เป็นมิตรต่อเกษตรกร

ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร มาช่วยในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไหม้ในแปลงข้าว เป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อเกษตรกร ลดการตกค้างของสารเคมีในผลผลิต และเป็นการลดโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียผลผลิตที่เกิดจากโรคไหม้ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอชุมแพ คือการใช้สารสกัดหยาบจากส่วนต่างๆ ของต้นประยงค์( Aglaia odorata Lour.) และจากเหง้าของข่า ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ที่ก่อให้เกิดโรคไหม้ในข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ

ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากส่วนต่างๆของต้นประยงค์ และจากเหง้าของข่า ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ที่ก่อให้เกิดโรคไหม้ในระยะต่างๆ ได้แก่ ระยะกล้า ระยะแตกกอ และระยะคอรวง ของข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ โดยนำมาใช้เปรียบเทียบกับสารเคมีที่ใช้เป็นสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เพื่อเป็นแนวทางในการนำพืชสมุนไพร มาใช้ยับยั้งเชื้อราแทนการใช้สารเคมี