คานกระดกสำหรับเก็บเมือกของหอยทากยักษ์แอฟริกา
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
สุธิดา แซ่คู, สิทธิณี ลีนา, จุฑามาศ ไทยากรณ์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
นิรันดร์ เหลืองสวรรค์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ในการศึกษาประดิษฐ์คานกระดกสำหรับเก็บเมือกหอยทากยักษ์แอฟริกา เพื่อพัฒนาวิธีการรีดเมือกหอยทากยักษ์แอฟริกาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากเดิมเกษตรกรเก็บเมือกด้วยการฉีดพ่นน้ำบริเวณหลังคอของหอยทาก แล้วจึงกระตุ้นเบา ๆ ด้วยแท่งแก้ว ซึ่งเป็นวิธีการเก็บเมือกตามมาตรฐานสากล แต่ยังได้ปริมาณเมือกที่จำกัดต่อตัวและสุขภาพของหอยทากอาจเกิดสภาวะเครียดหรือบาดเจ็บได้ ในขั้นต้นได้ทำการศึกษาสังเกตพฤติกรรมของหอยทากยักษ์แอฟริกาที่มีกระจายอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น พบว่า พฤติกรรมการเคลื่อนที่ของหอยทากยักษ์แอฟริกาจะปล่อยเมือกไปตามทางและชอบเคลื่อนที่ไปบนที่สูง จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะประดิษฐ์คานกระดกสำหรับเก็บเมือกหอยทากยักษ์แอฟริกา โดยอาศัยหลักการโมเมนต์ของคานกระดก โดยมีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นทำให้หอยทากยักษ์แอฟริกาเคลื่อนที่ได้เร็วและมากขึ้น จะได้ปล่อยเมือกออกมามากขึ้นด้วย คานกระดกทำจากแผ่นอะคริลิคกว้าง 10 cm ยาว 30 cm พื้นผิวหยาบเจาะรูบนพื้นขนาด 0.5 mm เพื่อให้เมือกไหลลงไปบนอุปกรณ์รองรับเมือกของหอยทาก บริเวณปลายทั้ง 2 ด้านจะล่อด้วยอาหารจากแตงกวาและแสงสีน้ำเงินจากหลอดไฟ อยู่ในสภาวะกล่องทดลองที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 70% โดยปกติเกษตรกรจะรีดเมือกของหอยทากยักษ์แอฟริกาด้วยวิธีมาตรฐาน ครั้งหนึ่งจะใช้เวลา 12 วันต่อเนื่องแล้วเว้นให้หอยทากหยุดอีก 20 วัน จึงจะทำการรีดใหม่ได้ ดังนั้นกรรมวิธีการรีดเมือกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในช่วงระยะเวลา 32 วัน โดยใช้คานกระดกร่วมกับการรีดเมือกของหอยทาก วิธีมาตรฐานสากล พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณเมือกของหอยทากยักษ์แอฟริกาได้สูงถึง 11.98 กรัมต่อตัว หรือเพิ่มขึ้น 1.96 เท่า เมื่อเทียบกับกรรมวิธีการรีดเมือกแบบมาตรฐานสากล จึงถือได้ว่าเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งยังส่งเสริมให้หอยทากยักษ์แอฟริกามีสุขภาพแข็งแรงและไม่เกิดสภาวะเครียดอีกด้วย