การศึกษาการใช้สารสกัด Catechin จากชาขาวในการลดการเน่าเสียของเนื้อหมูจากเชื้อ Staphyloccocus aureus

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุวพิชญ์ จันทร์วิกูล, ปณาลี อุดมธนกิจ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จุฑารัตน์ ใจงาม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การที่เนื้อหมูจะเน่าเสียมักเริ่มจากการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย แบคทีเรียจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเน่าเสียของเนื้อหมู สามารถพบแบคทีเรียได้จากธรรมชาติทั้งในดิน น้ำ รวมถึงตัวสัตว์เอง ซึ่งแบคทีเรียบางชนิดก็เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ (พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, 2561) โดยจากงานวิจัยได้มีการสำรวจเนื้อหมูที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและพบว่า มีเนื้อหมูที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ Staphyloccocus aureus ในโรงงานฆ่าสัตว์ จังหวัดเพชบูรณ์(มนต์วจี ชูดวง และคณะ, 2557) โดยเชื้อแบคทีเรีย Staphyloccocus aureus เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกที่ก่อโรค สามารถสร้างสารพิษที่มีคุณสมบัติทนความร้อน ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณน้อยกว่า 1 ไมโครกรัมก็สามารถทำให้มีอาการท้องเสีย วิงเวียนศรีษะได้ (พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, 2561)

มีการทำงานวิจัยนำสมุนไพรหรือพืชชนิดต่างๆมาทำการยับยั้งเชื้อ Staphyloccocus aureus ซึ่งสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ก็มีอยู่หลายกลุ่มตัวอย่างพืชที่ได้มีการนำมาใช้ทดลอง เช่น สารสกัดจากใบฝรั่งและเปลือกมังคุด (วรพจน์ จันทร์แสนตอ, 2541) ซึ่งสารในกลุ่มข้างต้นก็ล้วนมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ นอกจากนี้ยังมีการทำการทดลองเกี่ยวกับการนำชาต่างๆมาทำการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารต่างๆ โดยได้ข้อสรุปว่าชาสามารถช่วยในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ (วนิดา ชื่นชัน, 2563) โดยหนึ่งในชาที่ได้มีการนำมาทดลองก็คือชาขาว

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้มข้นของสารสกัดCatechin จากชาขาวที่มีประสิทธิภาพในการลดการเน่าเสียของเนื้อหมูจากเชื้อ Staphylococcus aureus และเพื่อศึกษาระยะเวลาในการหมักเนื้อหมูด้วยสารสกัด Catechin ที่เหมาะสม