นวัตกรรมสติ๊กเกอร์ชะลอการสุกและบ่งบอกระดับความสุกของกล้วยสายพันธุ์เศรษฐกิจของไทยเพื่อลดการสูญเสียระหว่างการวางจำหน่าย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

วัทธิกร ดีณรงค์, วชิรพล ไพชยนต์, นำทัพ เรืองสิริ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สิทธิศักดิ์ อินทรสิทธิ์, รัชฎาพร ตันต๊ะนา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กล้วยเป็นผลไม้ส่งออกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย แต่ปัญหาที่พบหลังจากการเก็บเกี่ยวกล้วยคือเกิดกระบวนการเสื่อมตามอายุ (senescence) และกระบวนการสุก (ripening) อย่างรวดเร็วระหว่างการขนส่งและการวางจำหน่าย สีผิวดูไม่น่ารับประทานจนทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นการเน่าเสียจากเชื้อโรค ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดลดลงและเป็นขีดจำกัดความสามารถในการส่งออกกล้วยไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อปริมาณขยะอาหารจากผลไม้เหลือทิ้ง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการสุกตามธรรมชาติของกล้วย โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมสติ๊กเกอร์ชะลอการสุกและบ่งบอกระดับความสุกของกล้วยสายพันธุ์เศรษฐกิจของไทยเพื่อลดการสูญเสียระหว่างการวางจำหน่าย โดยศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางสรีรวิทยาระหว่างกระบวนการสุกตามธรรมชาติของกล้วยสายพันธุ์เศรษฐกิจของไทย ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะนำมาพัฒนาสติ๊กเกอร์ที่สามารถชะลอกระบวนการสุกและบ่งบอกระดับความสุก จากนั้นทำการทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสติ๊กเกอร์ที่พัฒนาขึ้นต่อกระบวนการสุก การเสื่อมตามอายุและคุณภาพของผลไม้ภายใต้สภาวะจำลองการวางจำหน่าย นวัตกรรมสติ๊กเกอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและการวางจำหน่ายกล้วยสายพันธุ์เศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ยังสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งและวางจำหน่ายกับผลไม้และผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวชนิดอื่นๆ ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG2 Zero Hunger และ SDG12 Responsible Consumption and Production ขององค์การสหประชาชาติ