การศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับตะกั่วจากน้ำชะล้างคาร์แคร์ด้วยฟางข้าวปรับปรุงด้วยกรดอะซิติก
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ณัฐฐินันท์ ทุมพัฒน์, กุลนาถ ผ่านพินิจ, แพรทอง รัตนโสภา
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ประภา สมสุข
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไปการปนเปื้อนของโลหะหนักเกิดจากน้ำเสียที่มาจากโรงงานที่ใช้สารตะกั่วเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานผลิตสี โรงพิมพ์ อู่ซ่อมรถยนต์ มีผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการศึกษาลักษณะน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกำจัดน้ำเสียที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำและบริเวณใกล้เคียง เพราะแต่ละวันคนเรามีโอกาสได้รับสารตะกั่ว โดยตรงจากการกินอาหาร น้ำดื่ม หรือหายใจเอาสารตะกั่วเจือปนเข้าไป หากได้รับตะกั่วในปริมาณมากเกินไปจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้นลง ส่งผลให้เป็นโรคเลือดจาง ยังมีผลกระทบต่อระบบประสาท ไต ทางเดินอาหาร ตับ และหัวใจ รวมถึงระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ จนอาจส่งผลให้เป็นหมัน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ
ฟางข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ประกอบไปด้วยลิกนิน เซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลส ในฟางข้าวมีรูพรุนและเส้นใยเพื่อใช้ในการดูดซับและการแลกเปลี่ยนไอออนกับโลหะที่อยู่ในรูปสารละลายได้ แต่ความสามารถในการดูดซับไอออนของโลหะยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมีการดัดแปลงทางเคมีเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับมากขึ้น ซึ่งกรดอะซิติกเป็นสารเคมีที่มีราคาถูกและใช้ในทางอุตสาหกรรม ด้านการเกษตรอย่างกว้างขวาง การปรับสภาพฟางข้าวด้วยกรดอะซิติกเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของฟางข้าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนัก โดยกรดอะซิติกจะเข้าไปเติมหมู่คาร์บอกซิล (Carboxyl Group : -COOH) ให้กับโครงสร้างของฟางข้าวซึ่งทำให้ฟางข้าวมีประสิทธิภาพในการจับกับไอออนตะกั่วมากขึ้น
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการกำจัดตะกั่วซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียจากคาร์แคร์โดยใช้ฟางข้าวเป็นตัวดูดซับ มีการใช้กรดอะซิติกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวดูดซับมากขึ้นและยังเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย