การศึกษาผลของแคโรทีนอยด์จากมะละกอต่อเม็ดสีเพื่อพัฒนาเป็นอาหารเร่งสีปลากัด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ฐณิญา ศรีประยูรณกูล, พิชญ์สินี วรคุตตานนท์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ขุนทอง คล้ายทอง, ชิตพงษ์ เหนือเกาะหวาย

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การศึกษาผลของแคโรทีนอยด์จากมะละกอต่อเม็ดสี เพื่อพัฒนาเป็นอาหารเร่งสีปลากัดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของแคโรทีนอยด์จากมะละกอต่อเม็ดสีที่เพิ่มขึ้นของปลากัดและเพื่อพัฒนาเป็นอาหารเร่งสีปลากัด

แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ชุดการทดลอง แต่ละชุดมี 3 ซ้ำ โดยให้ปลากัดแต่ละชุดการทดลองได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบเหมือนกัน ยกเว้นปริมาณมะละกอสุกอบแห้ง โดยชุดการทดลองที่ 1 สูตรควบคุม ( ไม่มีปริมาณมะละกอสุก ), ชุดการทดลองที่ 2 เสริมปริมาณมะละกอสุกอบแห้ง 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และชุดการทดลองที่ 3 เสริมปริมาณมะละกอสุกอบแห้ง 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากนั้นอบแห้งมะละกอสุก แล้วนำไปผสมกับปลาป่น สารเหนียว ( หวีดกลูเตน ) แป้งสาลี น้ำมันปลาทูน่า แร่ธาตุ วิตามิน เซลลูโลส เพื่ออัดเม็ดด้วยเครื่องบดอาหาร หลังจากนั้นนำเข้าเครื่อง Freeze dry เพื่อให้ได้อาหารเม็ดที่แห้ง วัดค่าสีเริ่มต้นบนตัวปลากัดแล้วบันทึกผลก่อนการทดลอง ก่อนลงตู้ทดลองทำการคัดขนาดปลาความยาว 2 เซนติเมตร ใส่ในตู้ทดลองตู้ละ 1 ตัว จำนวน 9 ตู้( มี 3 ชุดการทดลอง ชุดละ 3 ซ้ำ เก็บตัวอย่างทุก 2 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์) ทำการให้อาหารเม็ดสูตรควบคุม ระยะเวลา 7 วัน เพื่อให้ปลากัดเคยชินกับอาหารทดลอง และปรับสภาพให้เคยชินกับสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นเริ่มแยกให้อาหารปลาตามชุดการทดลองต่างๆ นำมาวัดค่าความเปลี่ยนแปลงของสีทุกๆ 2 สัปดาห์ด้วยเครื่อง Colorimeter, Minolta color reader CR-10 อ่านค่าในระบบ CIE L*a*b* เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์บันทึกค่าที่ได้หลังทำการทดลอง โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงงานนี้จะสามารถทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างแคโรทีนอยด์จากมะละกอสุกต่อเม็ดสีบนตัวของปลากัด และสามารถนำสูตรอาหารจากการทดลองนี้ไปต่อยอดเป็นอาหารที่ใช้เร่งสีปลากัดต่อไปได้