มหัศจรรย์โมเดลแถวคอยขจัดปัญหาการรอ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภิญญาพัชญ์ สุขสวัสดิ์, พรรรณภัทร รัตนดี, วรรณพร อินศร

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พิสิษฐ์ แวงสันเทียะ, พชรพงศ์ นวลศิริ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสุรพินท์พิทยา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย โดยเฉพาะการขยายตัวของร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่ (Modern Trade) ทำให้เกิดการสร้างงานและนำรายได้เข้าสู่ประเทศที่ถือว่าเป็นรายได้หลักที่สำคัญ ภายใต้สภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โรงเรียนสุรพินท์พิทยาเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนประมาณ 1,600 คน และสหกรณ์ร้านค้าเปิดให้บริการในเวลาที่จำกัด ทำให้ประสบปัญหาในการรับบริการและการให้บริการโดยผู้รับบริการก็อยากได้รับการบริการที่รวดเร็วและประทับใจ จากการประสบปัญหาการให้บริการและการรอคิวรับบริการ ทางคณะผู้จัดทำจึงร่วมกันศึกษาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการให้บริการและการรับบริการจากปัญหาการรอคอย โดยการดำเนินงานครั้งนี้มีจุดประสงค์ 1). เพื่อศึกษาระบบแถวคอยของการให้บริการในสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน 2). เพื่อจำลองระบบแถวคอยของการให้บริการในสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน 3). เพื่อหาจำนวนช่องทางการชำระค่าสินค้าในสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนที่เหมาะสมที่สุด ในการดำเนินงานค้นคว้าในครั้งนี้ เลือกกลุ่มศึกษาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) การให้บริการของสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน สุรพินท์พิทยา เนื้อหาทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงงานในครั้งนี้ ได้แก่ ความน่าจะเป็น (Probability Theory) สถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล (Statistics) และการแจกแจงความน่าจะเป็น (Probability Distribution) แบบเอกซ์โพเนนเชียล (Exponential Distribution) และการแจกแจงแบบปัวส์ซอง (Poisson Distribution) ข้อจำกัดและขอบเขตในการดำเนินงาน เป็นการดำเนินงานเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้รับบริการ เข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ที่ได้จากการ สังเกตของคณะผู้จัดทำ และจากข้อมูลของแต่ละร้าน เป็นเวลา 10 วัน ที่สุ่มมาจากเดือน สิงหาคม-กันยายน 2563 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ถึง 13.00 น. โดยนับจำนวนผู้มารับบริการทุก 5 นาที จำนวน 12 ครั้ง/วัน รวม 120 ครั้ง บันทึกข้อมูลในรูปของแผนภาพต้น – ใบ โดยประมาณจำนวนข้อมูลเป็นจำนวนเต็มสิบ ระบบการให้บริการเป็นแบบ FCFS (First Come First Service) หรือผู้มารับบริการที่มาถึงก่อนจะได้รับบริการก่อน

ผลจากการดำเนินงานเพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีแถวคอยในร้านค้าสหกรณ์โรงเรียนครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานระบบการให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการในช่วงเวลาที่มีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากในแต่ละวันทำการ เก็บรวบรวมอัตราการเข้ามารับบริการของลูกค้า ช่วงเวลาของการเข้ามารับบริการ อัตราการให้บริการของพนักงาน เป็นเวลา 10 วัน (เดือนสิงหาคม - กันยายน พ.ศ. 2563) พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 4,510 คน อัตราการเข้ามารับบริการของผู้รับบริการในสหกรณ์ในช่วงเวลานี้มีการแจกแจงแบบปัวส์ซอง ที่มีค่าเฉลี่ย 37.58 คนต่อ 5 นาที หรือ 7.52 คนต่อนาที ด้านเวลาให้บริการของพนักงานในร้านมีการแจกแจงแบบเอ็กซ์โพเนนเชียลที่มีค่าเฉลี่ยเป็น 0.13 นาที หรือ 7.98 วินาที แล้วนำผลที่ได้จากการศึกษาปัญหาในการรับบริการและการให้บริการโดยผู้รับบริการให้ได้รับการบริการที่รวดเร็วและประทับใจต่อไป