เปรียบเทียบกลุ่มแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดระหว่างผู้หญิงวัยประจําเดือนและวัยหมดประจําเดือน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐ์จิตรกมล แจ่มจันทร์, สวภัทร ประกัน, จิรประภา พิรารักษ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธนิกานต์ อุดมชโลทร, ปัทมา ทองดี

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันประเทศไทยมีสตรีหมดประจำเดือนอายุเฉลี่ย 50 ปี ( 45-55 ปี) ปัจจุบันสตรีไทยอายุเฉลี่ยจะอยู่ได้ถึง 75 ปี หลังหมดประจำเดือน จะมีชีวิตอยู่ยาวประมาณ 25 ปี หรือ 1 ใน 3 ของชีวิต และถ้าเราจะทำชีวิตที่เหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่จะปล่อยปละละเลย ก็จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น ปกติรังไข่จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนผู้หญิงจะออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ในหญิงอายุเฉลี่ยแค่ 50 ปี รังไข่หยุดทำงานแล้ว ทำให้ฮอร์โมนลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ติดตามมา จากการวิจัยก่อนหน้าพบว่าในวัยหมดประจำเดือนจะมีปริมาณของแบคทีเรียแตกต่างจากวัยก่อนหมดประจำเดือน และแบคทีเรียมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่องคลอง ดังนั้นเราจึงต้องการเปรียบเทียบกลุ่มแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดระหว่างผู้หญิงวัยประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดระหว่างสตรีวัยเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน ศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดระหว่างสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินดีและไม่ได้รับวิตามินดี และศึกษาความแตกต่างเชิงปริมาณของแล็กติกแอซิดแบคทีเรียในบริเวณช่องคลอดระหว่างสตรีวัยเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน วิธีการศึกษา คือ ทีมผู้วิจัยค้นหาปัญหาการวิจัย ทบทวนวรรณกรรม เขียนโครงร่างวิจัย และยื่นขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และทำหนังสือขออนุญาตเข้าเก็บข้อมูลวิจัยต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าเก็บข้อมูลได้ ทีมนักวิจัยจะเข้าไปหาผู้ป่วยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกแผนกสูตินรีเวชกรรม อธิบายข้อมูลโครงการวิจัยและขั้นตอนการปฏิบัติตัวให้อาสาสมัครทราบ หลังจากนั้นจึงขอความยินยอม หลังจากอาสาสมัครลงนามยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัยแล้ว แพทย์ผู้วิจัยจะตรวจภายในหรือตรวจมะเร็งปากมดลูกตามปกติ แล้วจึงเก็บสารคัดหลั่งจากภายในช่องคลอด โดยใช้ไม้พันสำลีป้ายสารคัดหลั่ง 1 อัน และใส่ในหลอดทดลองที่เตรียมไว้ ทีมวิจัยจะเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อโดยเตรียม MRS Broth ใส่หลอดเซนติฟิวพลาสติก ขนาด 15 มิลลิลิตร และ เตรียม MRS Agar เมื่อเตรียมเสร็จให้ทำไปแช่ตู้ ณ วันที่แพทย์ผู้วิจัยทำการเก็บสารคัดหลั่ง ทีมวิจัยจะนำหลอดอาหารเลี้ยงเชื้อ MRS broth มาเก็บสารคัดหลั่ง โดยใช้ไม้พันสำลีเก็บสารคัดหลั่ง 1 อันต่อคนไข้ 1 คน เมื่อเก็บเสร็จจะนำไม้พันสำลีเก็บหลอด ปิดฝา และทีมวิจัยจะนำหลอดไปเข้าห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการเจือจางจากสารที่ยังไม่ถูกเจือจาง นำมาสเปรด เพลท หลังจากนั้นบ่มในสภาวะ micro aerophilic condition ที่ 37 องศาเซลเซียสทิ้งไว้ 2 วัน พอหลังจาก 2 วัน นำออกมานับโคโลนีของเชื้อ โดยวิธีการนับโดยถ้าเคลียร์โซนรอบๆ จะถือว่าเป็นแล็กติกแอซิดแบคทีเรีย ส่วนถ้าไม่ขึ้นรอบๆ จะถือว่าไม่เป็นแล็กติกแอซิดแบคทีเรีย ทำจนครบทั้งหมด 90 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ 30 ตัวอย่าง กลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับวิตามินดี 30 ตัวอย่าง และ กลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินดี 30 ตัวอย่าง หลังจากนั้นคำนวณสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือลดลงที่ช่วง 30 ถึง 300 โคโลนี ด้วยหน่วยของ จำนวนเชื้อต่อมิลลิลิตร