การศึกษาการสังเคราะห์ตัวดูดซับจากข้าวโพดเพื่อพัฒนาสู่ปุ๋ยไนโตรเจนปลดปล่อยช้า

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สลิลทิพย์ ทองนวล, นิติภัทธ์ เรืองโรจน์, กฤตยา กะลีพัด

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พิไลลักษณ์ ศิริสุรวงศ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ไนโตรเจนเป็นหนึ่งในธาตุอาหารหลักของพืช แต่ในดินทั่วไปมักมีไนโตรเจนไม่เพียงพอต่อพืช เกษตรกรจึงมักแก้ปัญหาด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยยูเรียที่มีไนโตรเจนมาก แต่วิธีนี้จะทำให้ดินสูญเสียจุลินทรีย์บางชนิดและสูญเสียธาตุอาหารโดยการชะล้างหรือเปลี่ยนเป็นรูปที่พืชใช้ไม่ได้ จึงมีการคิดค้นปุ๋ยปลดปล่อยช้าซึ่งมีการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาทีละน้อย ทำให้การใส่ปุ๋ยครั้งหนึ่งสามารถครอบคลุมเวลาได้นาน ลดปริมาณสารเคมีตกค้างที่เกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีบ่อยครั้ง แต่ปุ๋ยปลดปล่อยช้าดังกล่าวนั้นมีต้นทุนสูง เนื่องจากมีกระบวนการในการผลิตซับซ้อยกว่าปุ๋ยทั่วไปและวัสดุพอลิเมอร์บางชนิดมีราคาสูง หากสามารถสังเคราะห์พอลิเมอร์ที่เหมาะสมอื่น ๆ มาทดแทนจะทำให้ต้นทุนมีราคาลดลง และพอลิเมอร์ตามธรรมชาติที่มีมากที่มากที่สุดในโลกคือเซลลูโลส โครงงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์โพลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวดจากเปลือกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการดูดซับยูเรียของโพลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวดจากเปลือกข้าวโพด และเพื่อพัฒนาปุ๋ยปลดปล่อยช้าจากโพลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวดจากเปลือกข้าวโพด

โดยการสังเคราะห์โพลิเมอร์ดังกล่าวจะเริ่มจากการสกัดเซลลูโลสจากเปลือกข้าวโพด จากนั้นจึงนำมาสังเคราะห์เป็นไฮโดรเจลที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำสูง แล้วนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทดสอบการดูดซับและการควบคุมการปลดปล่อยยูเรีย ไฮโดรเจนที่ได้จะถูกนำมาเป็นปุ๋ยปลดปล่อยช้าที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ เนื่องจากโครงสร้างส่วนใหญ่ที่เป็นเซลลูโลส ส่งผลดินมีธาตุอาหารเพิ่มเติมจากการย่อยสลายของปุ๋ยปลดปล่อยช้าจากเปลือกข้าวโพด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พืชและเกษตรกรสืบต่อไป