ต้นแบบอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นทะเลโดยใช้ทฤษฎีอำนาจการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าของฟาราเดย์
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
วริษา ประเสริฐสรรค์, กรกมล ฮวดนาง
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ปิยะนุช เขียวอร่าม
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
จากการที่คณะผู้จัดทำได้ไปทัศนศึกษาดูงานที่เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี คณะวิทยากรได้เปิดเผยว่าปัจจุบันประชากรภายในประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี เนื่องจากพลังงานไฟฟ้านั้นมีความจำเป็นและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน รวมไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คิดค้นหาวิธีที่จะนำพลังงานทางเลือกมาใช้ผลิตไฟฟ้า เพื่อนำมาทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงซากดึกบรรพ์ที่เป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งมีการคาดคะเนว่าอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต ด้วยโรงเรียนของคณะผู้จัดทำตั้งอยู่ใกล้กับชายหาดชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทางคณะผู้จัดทำจึงเกิดความสนใจที่จะนำพลังงานคลื่นทะเลที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และอาศัยทฤษฎีอำนาจการเหนี่ยวนำเหล็กไฟฟ้าของไมเคิล ฟาราเดย์มาเป็นส่วนช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นทะเล เริ่มต้นจากการสร้างแบบจำลองคลื่นทะเล เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณแรงเคลื่อนไฟฟ้าเหนี่ยวนำที่ได้และระยะของแม่เหล็กที่เคลื่อนที่ผ่านขดลวดทองแดง จากนั้นจึงประดิษฐ์อุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปทดสอบใช้จริงในคลื่นทะเล โดยออกแบบอุปกรณ์ให้แม่เหล็กแรงสูงสามารถเคลื่อนที่ได้เฉพาะบริเวณของขดลวดทองแดงที่อยู่ด้านนอก และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดเวลาที่มีการเกิดคลื่น เพราะคลื่นทะเลมีการเกิดตลอดเวลาทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ด้านล่างของอุปกรณ์จะเป็นทุ่นลอยน้ำที่จำกัดให้สามารถขยับเคลื่อนที่ขึ้นลงตามแนวแรงของคลื่นตามขวางเท่านั้น เพื่อลดแรงเสียดทานที่จะส่งผลให้สูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่ได้บางส่วนไป เมื่อมีการเกิดคลื่น ทุ่นลอยน้ำจะมีการขยับขึ้นลงตามแนวแรงของคลื่นน้ำ ทำให้แม่เหล็กขยับผ่านขดลวดทองแดงจนเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิธีการนำกระแสไฟฟ้าที่ได้มาบรรจุใส่ลงในแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน ทางคณะผู้จัดทำหวังว่าการนำพลังงานคลื่นที่มีไม่สิ้นสุดและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้านี้ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนและมีต้นทุนที่ต่ำ