การพัฒนาแผ่นฟิล์มเพคตินจากเปลือกส้มโอร่วมกับเอนไซม์บรอมิเลนจากลำต้น และใบสับปะรดเพื่อรักษาตาปลา
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
อาภาพรรณ มีอิ่ม, พัทธนันท์ หิรัญอร
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ศุภลักษณ์ ห้วยหงษ์ทอง, ขุนทอง คล้ายทอง
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ด้วยสภาพแวดล้อม และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการทำกิจกรรมมากขึ้นในชีวิตประจำวัน มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เกิดการเสียดสีของผิวหนัง เมื่อเกิดการเสียดสีมากอาจเกิดโรคผิวหนังได้ เช่น ตาปลา ตาปลาเกิดจากการกดและเสียดสีเป็นเวลานาน ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดการเสียดสีมีการสะสมตัวหนาขึ้น เมื่อกดบริเวณตาปลาจะรู้สึกเจ็บ และเป็นโรคที่ทำให้เกิดการระคายเคือง การรักษาโดยการผ่าตัดด้วยการใช้เลเซอร์ การใช้ยา โดยตัวยาจะค่อย ๆ ทำให้ตาปลาเปื่อยยุ่ยลง ส่วนใหญ่ต้องทาวันละครั้ง และใช้ระยะเวลารักษานาน (คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2558: 31) ตัวยาที่นิยมใช้ในการรักษาตาปลาได้แก่กรดซาลิไซลิก โดยนำมาผลิตเป็นยาประเภทยาทาภายนอก เนื่องจากกรดซาลิไซลิกมีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว แต่อีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและได้รับความนิยมคือ พลาสเตอร์รักษาตาปลา
พลาสเตอร์รักษาตาปลาส่วนใหญ่มักจะผสมกรดซาลิไซลิกที่เป็นสารสังเคราะห์ ออกฤทธิ์ลดความเป็นกรดด่างของผิว ทำให้เกิดการบวมน้ำของเคราตินในชั้นผิวหนังเร่งการผลัดผิวของชั้นถัดไป หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้เนื่องจากการสะสมของตัวยา และส่งผลต่อระบบการทำงานภายในของร่างกาย การใช้วัสดุที่สังเคราะห์ได้จากธรรมชาติ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตเวชภัณฑ์ ในการรักษาตาปลา โดยเอนไซม์บรอมิเลนที่ได้จากเนื้อสับปะรด มีคุณสมบัติกระตุ้นการหลุดลอกของเซลล์ผิวเก่า และสมบัติคล้ายกับกรดซาลิไซลิก (สุพนิดา วินิจฉัย, พิลาณี ไวถนอมสัตย์ และ
วราภรณ์ อภิวัฒนาภิวัต. 2551: 215-222)
นอกจากนี้วัสดุที่จะนำมาใช้ขึ้นรูปเวชภัณฑ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ เนื่องจากตัวแผ่นพลาสเตอร์ขึ้นรูปจากสารสังเคราะห์ เช่น พลาสเตอร์รูปแบบผ้าก๊อซ พลาสเตอร์รูปแบบแผ่นฟิล์มพลาสติก แม้ว่าจะสะดวกสบายแต่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดังนั้นเพื่อลดโอกาสการระคายเคืองจึงเลือกขึ้นรูปเวชภัณฑ์ด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งพลาสเตอร์ในรูปแบบของแผ่นฟิล์มสามารถขึ้นรูปด้วยวัสดุจากธรรมชาติบางชนิดได้ เช่น เพคติน เพคตินสำหรับทำแผ่นฟิล์มสามารถสกัดได้จากวัสดุจากธรรมชาติ เช่น เปลือกส้มโอ เปลือกส้มโอมีส่วนประกอบเป็นเส้นใยอยู่มาก เส้นใยเหล่านี้มีเพคตินที่สามารถนํามาสกัด และมีคุณสมบัติในการสร้างเนื้อสัมผัสในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ โดยเป็นสารที่ทําให้เกิดเจลในผลิตภัณฑ์แยม สร้างความข้นหนืด และเป็นสารช่วยให้คงตัวในผลิตภัณฑ์อาหารและยาหลายประเภท (ปาริษา ทองสุข และคณะ. 2551: 571-577) นอกจากนี้เพคตินจากเปลือกส้มโอยังมีความบริสุทธิ์มากกว่าผลึกเพคตินทางการค้า (โชคชัย วนภู. 2556: ออนไลน์)
คณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจพัฒนาแผ่นฟิล์มเพคตินจากเปลือกส้มโอร่วมกับเอนไซม์บรอมิเลนจากลำต้น และใบสับปะรดเพื่อผลิตแผ่นแปะรักษาตาปลาที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกส้มโอ และเอนไซม์บรอมิเลนที่ได้จากธรรมชาติ