ลดปริมาณการใช้น้ำและการงอกของเมล็ดหญ้าข้าวนกในการปลูกพืชด้วยแผ่นเส้นใยธรรมชาติคลุมดิน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ผกาพรรณ ไชยวงษ์, กัญญาณัฐ คณาวงค์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุกัลยา วงค์ใหญ่

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา"

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

จากการศึกษาการลดปริมาณการใช้น้ำและการงอกของเมล็ดหญ้าข้าวนกในการปลูกพืชด้วยแผ่นเส้นใยธรรมชาติคลุมดินเพื่อแก้ปัญหาการใช้น้ำมากในการปลูกพืช ตัวแปรที่ศึกษาได้แก่ ชนิดของเส้นใยพืช ชนิดและปริมาณของตัวประสาน และมูลโค โดยขั้นตอนแรกเป็นการศึกษาชนิดของเส้นใยพืชในการทำแผ่นคลุมดิน โดยใช้เส้นใยพืชจำนวน 3 ชนิดได้แก่ ต้นคล้าน้ำ ต้นกล้วยและต้นผักตบชวา ซึ่งพบว่า แผ่นเส้นใยต้นคล้าน้ำดีที่สุด เนื่องจากมีปริมาณ เส้นใยในโครงสร้างมากที่สุด แต่แผ่นเส้นใยต้นคล้าน้ำนั้นประสานตัวกันได้ไม่ดี ผู้จัดทำจึงทำการศึกษาชนิดและปริมาณของตัวประสาน โดยใช้ตัวประสานจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ กาวแป้งเปียก เมล็ดแมงลักและวุ้นน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้ปริมาณต่างกัน 4 ระดับ ได้แก่ 5, 10, 15 และ 20 กรัม ตัวประสานวุ้นน้ำหมักชีวภาพเป็นตัวประสานที่ดีที่สุดสามารถ ลดปริมาณการใช้น้ำในการปลูกพืชได้มากที่สุด เนื่องจากแผ่นเส้นใยสามารถประสานตัวกันได้ดี หลังจากนั้น จึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของแผ่นเส้นใยธรรมชาติเคลือบมูลโคคลุมดิน โดยเปรียบเทียบการใช้งานกับแผ่นพลาสติกดำ พบว่า แผ่นเส้นใยธรรมชาติเคลือบมูลโคคลุมดินสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่แตกต่างกันกับแผ่นพลาสติกดำ และลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 43.14 ลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการปลูกข้าวโพด ข้าวเหนียวระยะเวลา 45 วัน จนเก็บเกี่ยวผลผลิต อีกทั้งยังสามารถยับยั้งการงอกของเมล็ดหญ้าข้าวนกและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินได้อีกด้วย ในการทดลองครั้งต่อไปควรศึกษาประสิทธิภาพของแผ่นเส้นใยธรรมชาติเคลือบมูลโคคลุมดินในการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ในสภาพจริง