การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากใบของตะไคร้ สำหรับการใช้ในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

บูรพา คนิการ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วไลภรณ์ อรรถศิริ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กลิ่นกายเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้มากทั้งในกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่น โดยมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียบนร่างกายของมนุษย์ทำการย่อยโมเลกุลของกรดอะมิโนในเหงื่อ ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหน้าที่การงาน ความมั่นใจ และการเข้าสังคมของผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, 2560) ในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น การใช้ยา การควบคุมอาหาร และการใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย

ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายมีความสามารถในการลดกลิ่นของร่างกายอันเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ น้ำหอม ยากำจัดเชื้อแบคทีเรีย และแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นตัวทำละลาย เมื่อใช้แล้ว เหงื่อจะยังคงออกตามปกติ (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, 2555) อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายได้ เนื่องจากเกิดอาการอักเสบจากแอลกอฮอล์หลังจากได้ใช้ไป ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่กล้าที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง

การอักเสบนั้น เป็นการตอบสนองอย่างหนึ่งของร่างกาย เพื่อกำจัดสิ่งที่มากระตุ้นหรือทำลายเนื้อเยื่อ การหลั่งสารเคมีต่างๆออกมา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวด บวม ในบริเวณที่เกิดการอักเสบ (ธนินนิตย์ ลีรพันธ์, 2563) จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าร้อยละ 44.6 จัดอยู่ในกลุ่มอาการผิวแพ้ง่าย(Hadar Lev-Tov และ Howard I Maibach, 2555) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการค้นพบว่าสารบางชนิด อย่าง ปิโตรเลียมเจล คลอโรฟอร์ม และน้ำมันหอมระเหย มีคุณสมบัติที่คล้ายกับแอลกอฮอล์อย่างมาก โดยน้ำมันหอมระเหยนั้น สามารถสกัดได้จากพืชหลากหลายชนิด เช่น กุหลาบ ยูคาลิปตัส มะพร้าว และตะไคร้

ตะไคร้เป็นพืชท้องถิ่นที่มีการเพาะปลูกอยู่มากในประเทศไทย เพราะสามารถเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีกลิ่นหอม เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยสูงถึงร้อยละ 3 โดยมวล (Parirat Khonsung, 2555) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรจำหน่ายได้น้อยลง สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรอย่างมาก การนำตะไคร้มาสกัดน้ำมันหอมระเหยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ผู้จัดทำโครงงานมีความสนใจในการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ สำหรับการใช้ในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย