ผลของความเข้มข้นและรูปแบบการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการผลิตไข่น้ำ (Wolffia globosa (Roxb.) Hartog & Plas.) เพื่อเป็นระบบสนับสนุนชีวิตโดยการหมุนเวียนเชิงชีวภาพบนอวกาศ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พีรวิชญ์ องคน้ำทิพย์, กวินภพ จันเจือ, อมรฤทธิ์ ศิริคำ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

โอภาส พระเทพ, ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การตั้งถิ่นฐานบนอวกาศเป็นแนวคิดที่เริ่มมีการศึกษาเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางด้านวิทยาการอวกาศ ซึ่งการที่มนุษย์จะสามารถดำเนินโครงการบนอวกาศนั้นการพัฒนาระบบสนับสนุนชีวิตโดยการหมุนเวียนเชิงชีวภาพ หรือ Bioregenerative life support systems (BLSS) จึงมีความสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้มนุษย์สามารถดำรงชีพในอวกาศได้ยาวนาน โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของ BLSS ก็คือการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารและแหล่งออกซิเจน ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมอวกาศ (Space farming) เป็นเรื่องสำคัญในการศึกษา

ผำ หรือไข่น้ำ (Wolffia globosa (Roxb.) Hartog & Plas.) เป็นพืชที่มีศักยภาพในการเป็นอาหาร และแหล่งผลิตออกซิเจนในการดำรงชีพของมนุษย์บนอวกาศ เนื่องจากเป็นพืชขนาดเล็กใช้พื้นที่น้อย ลอยตัวบนผิวน้ำไม่ต้องการวัตถุยึดเกาะ และมีปริมาณโปรตีนสูงมาก (ประมาณ 20-30% โดยมวล) อีกทั้งขยายพันธ์ได้รวดเร็ว จึงสามารถให้ผลผลิตมากในเวลาสั้น แม้จะมีการศึกษาสภาวะการเพาะเลี้ยงไข่น้ำอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและปริมาณโปรตีนของไข่น้ำ โดยเฉพาะการผลิตในสภาวะอวกาศจำลองยังคงมีข้อมูลอยู่จำกัด

ด้วยเหตุนี้คณะผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาผลของความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ รูปแบบของการให้ก๊าซคาร์บนไดออกไซด์ (ในน้ำและในอากาศ) ต่อการเจริญเติบโตและการผลิตโปรตีนของไข่น้ำ เพื่อใช้พัฒนาการปลูกไข่น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารทั้งบนโลกและในอวกาศ โดยในการวิจัยจะแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง ได้แก่ การทดลองที่ 1 ผลของความเข้มข้นและรูปแบบการให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการเจริญเติบโต ปริมาณรงควัตถุ และโปรตีนของไข่น้ำ

การทดลองที่ 2 ผลของความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการเจริญเติบโต ปริมาณรงควัตถุ และโปรตีนของไข่น้ำ ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ โดยทั้งสองการทดลอง จะมีการวัดการเจริญเติบโตของไข่น้ำ (จากมวลชีวภาพสดและแห้ง) ปริมาณรงควัตถุ (คลอโรฟิลล์ และแคโรทีนอยด์) และปริมาณโปรตีน

หากงานวิจัยสำเร็จผลดังคาด ผลที่ได้จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ในการผลิตไข่น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งผลิตออกซิเจนเพื่อสนับสนุนระบบ BLSS สำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ในอวกาศต่อไป